คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9640/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเฉพาะเรื่องแจ้งความเท็จเกี่ยวกับเรื่องยักยอกเงินว่า จำเลยแจ้งข้อความเท็จ ให้จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ย่อมถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบการกระทำผิดเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยโจทก์ต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานดังกล่าวที่เกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบการกระทำผิด โจทก์จะเพียงแต่ขอมาในคำแก้อุทธรณ์ไม่ได้และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าจำเลยไม่ได้แจ้งข้อความเท็จว่าโจทก์ยักยอกเงิน ก็ชอบที่จะพิพากษาแก้โดยยกฟ้องโจทก์ในฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับเรื่องยักยอกเงินเสียด้วย จะไปหยิบยกในเรื่องเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบเรื่องการกระทำผิดขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำคุกย่อมไม่ชอบ เนื่องจากเป็นการพิพากษานอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบเรื่องการกระทำผิด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องว่า เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า โจทก์กับพวกร่วมกันยักยอกเงิน 4,000 บาท ของจำเลยและเงินจากบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บัญชีเลขที่ 591 – 2 – 23215 – 9 หรือบัญชี 2 จำนวน 1,996,600 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินของจำเลย ให้จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ย่อมต้องถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบการกระทำความผิดเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความแล้ว เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วย โจทก์ต้องอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานดังกล่าวที่เกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบการกระทำผิดเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวนั้นด้วย โจทก์จะเพียงแต่ขอมาในคำแก้อุทธรณ์ไม่ได้และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จว่า โจทก์กับพวกร่วมกันยักยอกเงิน 4,000 บาท ของจำเลยและเงิน 1,996,600 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินของจำเลย ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบที่จะพิพากษาแก้โดยยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานแจ้งความเท็จว่า โจทก์กับพวกร่วมกันยักยอกเงิน 4,000 บาท ของจำเลยและเงิน 1,996,600 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินของจำเลย ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสียด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปหยิบยกความผิดฐานดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบเรื่องการกระทำผิดขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี เป็นการพิพากษานอกเหนือไปจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าว แต่หากฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวก็ขอให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานแจ้งความเท็จว่าโจทก์กับพวกร่วมกันยักยอกเงิน 4,000 บาท ของจำเลยและเงิน 1,996,600 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินของจำเลย ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสียด้วย กับให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่วินิจฉัยในความผิดฐานดังกล่าวและให้ยกฎีกาจำเลย

Share