คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8572/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ ช. จะคอยอยู่ที่ตู้ยามพิชัยรักษ์ แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าเขตงานตู้ยามพิชัยรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพียงคนเดียวที่จะต้องควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานหลายคน ทั้งดาบตำรวจ ช. ยังเตรียมพร้อมที่จะออกไปสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ย่อมถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานที่กำลังกระทำการตามหน้าที่ ส่วนผู้ตายและผู้เสียหายนอกจากจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามคำสั่งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานีแล้ว ในวันเกิดเหตุผู้ตายและผู้เสียหายได้แต่งกายในชุดผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานซึ่งบุคคลที่พบเห็นย่อมทราบว่าเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน และยังได้รับมอบหมายจากดาบตำรวจ ช. ให้ออกตรวจท้องที่และกวาดล้างกลุ่มวัยรุ่นที่กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงฟังได้ว่าผู้ตายและผู้เสียหายเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย 1 นัด จากนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดดาบฟันผู้ตายและผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าและร่วมกันพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 80, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2500/2554 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ระหว่างพิจารณา นางลัดดาพร มารดาของนายอธิวัฒน์ ผู้ตาย ผู้ร้องที่ 1 และนายยุทธนา ผู้เสียหาย โดยนางพิมภา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 9,544,000 บาท และแก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (3) (4), 289 (3) (4) ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่ถูก มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง), 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนและอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร กับฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานร่วมกันฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 6 เดือน และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 3 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อนตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษตามความผิดกระทงอื่นมารวมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 660,000 บาท และร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กันยายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคดีแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 83 และ 288 ประกอบมาตรา 80, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 288, 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี กับให้บวกโทษจำคุก 6 เดือนของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2500/2554 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี 6 เดือนเมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี 15 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุก 25 ปี 9 เดือน ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายอธิวัฒน์ ผู้ตาย และนายยุทธนา ผู้เสียหาย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามคำสั่งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน ร่วมกันมีอาวุธปืนพกพร้อมเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนดังกล่าวและอาวุธมีดดาบติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงไปที่ผู้ตายและผู้เสียหาย จำนวน 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด จากนั้นจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธมีดดาบดังกล่าวฟันผู้ตายและผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ และผลการตรวจชันสูตรบาดแผล เจ้าพนักงานยึดปลอกกระสุน 1 ปลอก จากบริเวณที่เกิดเหตุเป็นของกลาง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจชุบจะคอยอยู่ที่ตู้ยามพิชัยรักษ์แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าเขตงานตู้ยามพิชัยรักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพียงคนเดียวในเขตงานนั้นที่จะต้องควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานหลายคน ทั้งดาบตำรวจชุบยังเตรียมพร้อมที่จะออกไปสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานที่กำลังกระทำการตามหน้าที่ ส่วนผู้ตายและผู้เสียหายนั้นนอกจากจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามคำสั่งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานีแล้ว ในวันเกิดเหตุผู้ตายและผู้เสียหายได้แต่งกายในชุดผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานีกำหนดซึ่งบุคคลที่พบเห็นย่อมทราบว่าเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานและยังได้รับมอบหมายจากดาบตำรวจชุบให้ออกตรวจท้องที่และกวาดล้างกลุ่มวัยรุ่นที่กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงฟังได้ว่า ผู้ตายและผู้เสียหายเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าและร่วมกันพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (3), 83 และ 289 (3) ประกอบมาตรา 80, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 289 (3), 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share