คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5792/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมที่ครอบครองมาก่อนใช้ ป.ที่ดิน โดยมิได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยชอบแม้ว่าเดิมที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตาม ป.ที่ดิน มาตรา 10 และมาตรา 11 จนได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1334 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยที่ 1 จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ก็ตาม แต่โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกสร้างอาคารและปลูกต้นไม้และพืชผลต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมโดยสุจริตตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1336 เรียกร้องให้โจทก์รื้อถอนอาคารและเก็บเกี่ยวพืชผลขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาท แต่โจทก์เพิกเฉยนั้น ก็มีผลเพียงถือว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งชอบที่จำเลยที่ 1 จะต้องใช้สิทธิฟ้องขับไล่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 เพื่อที่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ชนะคดีแล้วจะได้ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลตามขั้นตอนของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 ทวิ, 296 ตรี, 296 จัตวา, 296 เบญจ 296 ฉ และมาตรา 296 สัตต แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่อไป จำเลยที่ 1 หามีสิทธิที่จะใช้อำนาจโดยพลการเข้าดำเนินการรื้อถอนเพื่อขับไล่โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาทด้วยตนเองไม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและไถปรับหน้าดินทำให้พืชผลโจทก์เสียหาย ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 2,980,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำนวณถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 3,203,500 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 18,120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำนวณถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 18,459,750 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 ที่ 7 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 32,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และในอัตราเดือนละ 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุก ๆ เดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่กรรม
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ต่างให้การรวมใจความว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยในต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2536 ต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2537 ต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2537 และต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 มกราคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 900,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้คิดดอกเบี้ยดังนี้ ในต้นเงิน 700,000 ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2536 ในต้นเงิน 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท
จำเลยที่ 1 และโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาและคู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินเหมืองฉลุงซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ก่อนว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกที่เข้ารื้อถอนโรงเรือนตลอดจนต้นไม้และพืชผลในที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองอยู่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1334 กำหนดให้บุคคลอาจได้มาซึ่งที่ดินประเภทดังกล่าวตามกฎหมายที่ดิน แล้วฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่า โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมที่ครอบครองต่อกันมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แม้จะมิได้มีการแจ้งการครอบครองไว้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 แต่โจทก์ก็มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) จึงอยู่ในบังคับแห่งมาตรา1305 ที่จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาและอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 1306 ที่ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินด้วยดังนั้น ที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามมาตรา 1304 (1) บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยการซื้อขายหรือโดยอายุความไม่ได้ อย่างไรก็ตามกฎหมายได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้บุคคลอาจได้มาซึ่งที่ดินรกร้างว่างเปล่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1334 ที่บัญญัติให้บุคคลอาจได้มาซึ่งที่ดินรกร้างว่างเปล่าได้ตามกฎหมายที่ดิน ซึ่งแต่เดิมก็คือพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2479 แต่ตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมาคือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 3 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในกรณีต่อไปนี้ (1) ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ หรือได้มาซึ่งโฉนดที่ดินตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ (2) ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือกฎหมายอื่น และมาตรา 10 บัญญัติว่า ที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้นให้อธิบดีมีอำนาจจัดหาผลประโยชน์ ในการจัดการผลประโยชน์ให้รวมถึงการจัดทำให้ที่ดินใช้ประโยชน์ได้ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า และให้เช่าซื้อ… และมาตรา 11 บัญญัติไว้ว่าการจัดหาผลประโยชน์ซึ่งที่ดินของรัฐตามนัยดังกล่าวในมาตราก่อนนี้ รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้จัดหาผลประโยชน์สำหรับรัฐหรือบำรุงท้องถิ่นก็ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เพียงแต่ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมที่ครอบครองมาตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดินเท่านั้น แต่หาได้ปรากฏว่าเจ้าของเดิมได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบและโจทก์ได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด ฝ่ายจำเลยที่ 1 มีนายมนตรี หัวหน้างานนิติกรรมและกรรมสิทธิ์ที่ดิน กองกฎหมาย ของจำเลยที่ 1 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 (1) การจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรมและเบิกความเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทว่า ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ แจ้งนโยบายการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมบริเวณทะเลสาบสงขลาไปยังผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ต่อมาในปี 2525 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้โดยมีแผนจะจัดตั้งที่บริเวณทุ่งป่าโหมด ตำบลควนหิน อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา แต่ภายหลังทราบว่าไม่สามารถจัดซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 จึงรายงานข้อขัดข้องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ และจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า จำเลยที่ 1 เห็นสมควรใช้พื้นที่เหมืองฉลุงซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2,300 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินอยู่ในความครอบครองดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้จะทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ถึง 40,000,000 บาท ตามสำเนาบันทึก ซึ่งต่อมาเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมทราบว่า นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นชอบตามเสนอ ดังปรากฏตามบันทึกและแผนที่ ผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือขออนุมัติใช้ที่ดินเหมืองฉลุงจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ต่อมาคณะกรรมการองค์การเหมืองแร่ได้ประชุมพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องในการที่จำเลยที่ 1 จะใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว ประธานกรรมการองค์การเหมืองแร่ได้มีบันทึกแจ้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมทราบตามสำเนารายงานการประชุมและบันทึก กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความร่วมมือเกี่ยวกับด้านสาธารณูปโภค นิติกรของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำความเห็นสรุปความเป็นมาของที่ดินเหมืองฉลุงต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเห็นว่าที่ดินเหมืองฉลุงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งถือตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 และประธานกรรมการองค์การเหมืองแร่เพื่อให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการต่อไป ต่อมาองค์การเหมืองแร่ได้มีบันทึกแจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการดำเนินการประสานงานกับจำเลยที่ 1 เพื่อดำเนินการแบ่งใช้ที่ดินเหมืองฉลุง และได้มีการประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเหมืองฉลุงและมีผลการร่วมประชุมพิจารณาว่าที่ดินเหมืองฉลุงเป็นที่ดินของรัฐประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า ตามรายงานการประชุม เนื่องจากองค์การเหมืองแร่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.2520 และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกในปี พ.ศ.2528 ผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 จึงได้มีหนังสือแจ้งให้ประธานคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีองค์การเหมืองแร่เพื่อดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเหมืองฉลุงให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ได้รับแจ้งเหตุขัดข้องว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นแบ่งเป็นประทานบัตร 2 ประทานบัตร ส่วนที่เหลือเป็นคำขอประทานบัตรและมีผู้บุกรุกพื้นที่ดังกล่าวอยู่ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ขออนุญาตเข้าครอบครองและใช้พื้นที่เหมืองฉลุง กับมีหนังสือหารือไปยังอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีก็ได้รับแจ้งว่ากรมทรัพยากรธรณีไม่มีสิทธิใด ๆ ในการที่จะโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ ในระหว่างนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของที่ดินเหมืองฉลุงตามสำเนาคำสั่ง คณะทำงานได้ประชุมแล้วมีความเห็นว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจที่จะนำไปจัดหาผลประโยชน์ได้ตามสำเนาบันทึกการประชุม และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้แจ้งผลการประชุมดังกล่าวให้ผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ทราบ และแจ้งด้วยว่าจังหวัดสงขลาไม่ขัดข้องที่จำเลยที่ 1 จะใช้พื้นที่เหมืองฉลุงเป็นที่ตั้งของการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จำเลยที่ 1 จึงเสนอความเห็นของคณะทำงานดังกล่าวให้กรมธนารักษ์ทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตามเอกสาร และกรมธนารักษ์ได้มีหนังสือแจ้งตอบว่าเห็นด้วยกับความเห็นของคณะทำงานว่าที่ดินเหมืองฉลุงมิใช่ที่ราชพัสดุ ต่อมาในปี 2537 กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการถอนคำขอประทานบัตรและเวนคืนประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ในที่ดินเหมืองฉลุง และกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดหาประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามสำเนาประกาศ ประกาศดังกล่าวระบุให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดหาผลประโยชน์โดยการขายให้แก่จำเลยที่ 1 และต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 10,000,000 บาท ดังนี้ เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม จัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีข้อความระบุชัดแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2510) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 20 (พ.ศ.2515) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปจัดหาผลประโยชน์โดยการขายให้แก่จำเลยที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 2,271 ไร่ 37 ตารางวา ตามแนวเขตแผนที่แนบท้ายประกาศดังกล่าว และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องขายที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณเหมืองฉลุง ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีข้อความต่อเนื่องกันได้ความชัดแจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และ 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2510) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 20 (พ.ศ.2515) ได้ตกลงจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวโดยการขายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินทั้งสิ้น 10,000,000 บาท เพื่อให้จำเลยที่ 1 จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างสมเหตุผลและมีเอกสารราชการเป็นหลักฐานประกอบทุกขั้นตอนของการดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 10 และมาตรา 11 แล้ว ดังนั้น แม้ว่าเดิมที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 10 และมาตรา 11 จนได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1334 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะขัดกับตัวบทกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยที่ 1 จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับกันฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกสร้างอาคารและปลูกต้นไม้และพืชผลต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมโดยสุจริตตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เรียกร้องให้โจทก์รื้อถอนอาคารและเก็บเกี่ยวพืชผลขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาท แต่โจทก์เพิกเฉยนั้น ก็มีผลเพียงถือว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ซึ่งชอบที่จำเลยที่ 1 จะต้องใช้สิทธิฟ้องขับไล่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เพื่อที่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ชนะคดีแล้วจะได้ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลตามขั้นตอนของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 ทวิ, 296 ตรี, 296 จัตวา, 296 เบญจ 296 ฉ และมาตรา 296 สัตต แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่อไป จำเลยที่ 1 หามีสิทธิที่จะใช้อำนาจโดยพลการเข้าดำเนินการรื้อถอนเพื่อขับไล่โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาทด้วยตนเองไม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและไถปรับหน้าดินทำให้พืชผลโจทก์เสียหาย ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการทำละเมิดดังกล่าวให้แก่โจทก์
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาและค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ

Share