คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16789/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้เสียหายกับพวกออกมาที่หน้าบ้านเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ชกต่อยกับผู้เสียหายกับพวกที่บริเวณหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าห้ามปรามโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามพฤติการณ์เชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของ จ. และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า จ. เคยฟ้องมารดาของจำเลยทั้งสามกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ จ. ก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า จ. ซึ่งถูกมารดาของจำเลยทั้งสามฟ้องขับไล่ยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ให้ยกอุทธรณ์ของ จ. ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้
ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาร่วมกันบุกรุกและข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นสองกรรมเกินจากที่ได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อถามหาน้องชายของผู้เสียหาย แต่เมื่อไม่พบจึงได้ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปถามหาน้องชายของผู้เสียหาย ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 289, 340, 340 ตรี, 358, 364, 365 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบแกนลูกกระสุนปืนของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงิน 4,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 358, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน และลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน จำคุก 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 19 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี 19 เดือน ริบของกลาง (ที่ถูก ริบแกนลูกกระสุนปืนของกลาง) และให้จำเลยที่ 4 คืนเงิน 4,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 1 ปี 19 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายนิรุตน์ ผู้เสียหาย ถูกทำร้ายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย สำหรับความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์ไม่ได้ฎีกา ความผิดทั้งสองฐานนี้สำหรับจำเลยดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลา 0.30 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหาย นางสาวแพรวพรรณ ภริยาของผู้เสียหาย นายวิสุตร น้องชายของผู้เสียหาย และภริยาของนายวิสุตรอยู่ที่บ้านเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถเก๋งโดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และนายเมรวัฒน์หรือต้วย ซึ่งเป็นเยาวชนนั่งโดยสารมาด้วย แล่นมาจอดที่หน้าบ้านดังกล่าว จำเลยทั้งสี่กับพวกซึ่งมีอาการเมาสุราลงจากรถเก๋ง และเรียกนายวิสุตรหลายครั้ง แต่นายวิสุตรไม่ออกไป ผู้เสียหายเชื่อว่าฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่พอใจนายวิสุตรในเรื่องการปลูกสร้างขนำหน้าบ้าน ผู้เสียหายบอกให้นายวิสุตรหลบหนีออกไปทางหลังบ้าน จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนพกชนิดลูกโม่สีดำยิงขึ้นฟ้า 1 นัด จากนั้นจำเลยทั้งสี่กับพวกช่วยกันดึงตาข่ายประตูเหล็กหน้าบ้านและเข้ามาบริเวณหน้าบ้าน แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกผลักประตูไม้เข้ามาภายในบ้าน จำเลยที่ 1 ถามหานายวิสุตร ผู้เสียหายตอบว่า ไม่ทราบ จำเลยที่ 1 พูดว่า “มึงเหมือนกัน” แล้วใช้อาวุธปืนพกตีผู้เสียหายที่ขมับซ้าย 1 ครั้ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายโดยการเตะและต่อย ผู้เสียหายล้มลงกับพื้น จำเลยทั้งสี่จับศีรษะของผู้เสียหายไว้ จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนจี้ผู้เสียหายและถามว่า นายวิสุตรไปไหน ระหว่างที่จำเลยทั้งสี่รุมทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยที่ 4 ล้วงเอาเงิน 4,000 บาทเศษ ในกระเป๋ากางเกงข้างขวาของผู้เสียหายไป จำเลยที่ 1 พูดว่า บ้านหลังนี้ไม่ให้ผู้เสียหายอยู่ ให้ไปอยู่ที่อื่น เมื่อจำเลยทั้งสี่ปล่อยตัวผู้เสียหาย มีจำเลยคนหนึ่งพูดว่า “ยิงมันเลย” จำเลยที่ 1 จ้องเล็งอาวุธปืนมาที่ศีรษะของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงวิ่งเข้าไปหาจำเลยที่ 1 และจับมือของจำเลยที่ 1 เพื่อแย่งอาวุธปืนเป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนถูกกระเบื้องมุงหลังคาซึ่งวางไว้ที่พื้น ต่อมามีญาติของจำเลยที่ 1 มายังที่เกิดเหตุ และให้จำเลยทั้งสี่กลับไป ส่วนจำเลยทั้งสี่นำสืบต่อสู้ประกอบกันว่า บ้านเกิดเหตุเดิมเป็นของนางจบ ซึ่งเป็นพี่ของนางสาว มารดาของจำเลยที่ 1 และนางเนี่ยม มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นางจบเคยฟ้องนางสาวกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านเกิดเหตุ ศาลมีคำพิพากษาว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของนางจบ นางจบจึงย้ายไปอยู่ที่จังหวัดปัตตานี บ้านเกิดเหตุมักมีกลุ่มวัยรุ่นเข้าไปมั่วสุมเสพยาเสพติด วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถเก๋งโดยมีจำเลยที่ 3 ที่ 4 และนายเมรวัฒน์ นั่งโดยสารมาด้วยกลับมาจากงานเลี้ยงน้ำชา เมื่อไปถึงบ้านเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เห็นรถจักรยานยนต์จอดที่หน้าบ้านประมาณ 4 ถึง 5 คัน และมีแสงเทียนส่องสว่างในบ้าน จำเลยที่ 1 จึงเรียกบุคคลในบ้านให้ออกมาพูดคุยกัน ผู้เสียหาย นายเสรี และนายนิว ไม่ปรากฏชื่อจริงและชื่อสกุลออกมา จำเลยที่ 1 บอกผู้เสียหายกับพวกว่า ห้ามมิให้เข้าไปมั่วสุมในบ้านเกิดเหตุ ผู้เสียหายกับพวกด่าจำเลยที่ 1 และมีการโต้เถียงกัน จำเลยที่ 1 จึงชกผู้เสียหายที่ใบหน้า 1 ครั้ง ผู้เสียหายกับพวกเข้ารุมชกต่อยจำเลยที่ 1 บริเวณหน้าบ้านเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 และที่ 4 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านที่อยู่บริเวณที่เกิดเหตุเห็นเหตุการณ์จึงช่วยกันห้ามปราม ต่อมานางสาวและนางเนี่ยมมายังที่เกิดเหตุและช่วยห้ามปรามด้วย จำเลยทั้งสี่จึงแยกย้ายกันกลับ เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่ยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ แต่ผู้เสียหายก็เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนภายหลังเกิดเหตุไปตามลำดับขั้นตอนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปราศจากพิรุธสงสัย และแม้เหตุเกิดในเวลากลางคืน แต่ผู้เสียหายเบิกความว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟจากหลอดไฟซึ่งติดไว้ที่บริเวณถนนสาธารณะ และมีแสงไฟจากหลอดไฟซึ่งติดอยู่ในบ้านเกิดเหตุเป็นหลอดไฟขนาด 20 วัตต์ สามารถมองเห็นกันได้ชัดเจน เชื่อว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอให้ผู้เสียหายมองเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมองเห็นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ได้ นอกจากนี้ได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายว่า วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันดึงตาข่ายหน้าบ้านเกิดเหตุจนฉีกขาดเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 1,000 บาท ร่วมกันกระชากประตูเหล็กหน้าบ้านจนนอตหลุดออกจากเสา คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 1,000 บาท ร่วมกันเตะพัดลมตั้งพื้นจนหัก คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 600 บาท ร่วมกันรื้อค้นเสื้อผ้าจนกระจัดกระจายและบางตัวมีการดึงฉีกจนขาด คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 5,000 บาท และร่วมกันกระทืบรถจักรยานยนต์ 2 คัน จนอุปกรณ์ชำรุดและแตก คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 1,200 บาท รวมราคาทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายประมาณ 8,800 บาท ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวน เชื่อว่ายังจดจำรายละเอียดของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะเกิดเหตุได้เป็นอย่างดี แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ และมีเหตุผลหนักแน่นรับฟังได้ จึงรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ประกอบกับผู้เสียหายไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่มาก่อน จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะปั้นแต่งสร้างเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสี่ ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า มารดาของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบ้านเกิดเหตุ การเข้าไปในบ้านเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ขาดเจตนาในการกระทำความผิดเนื่องจากมีข้อโต้แย้งในเรื่องการครอบครองที่ดินและบ้านเกิดเหตุซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดิน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดีนั้น เห็นว่า ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสี่นำสืบประกอบกันทำนองว่า จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้เสียหายกับพวกออกมาที่หน้าบ้านเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ชกต่อยกับผู้เสียหายกับพวกที่บริเวณหน้าบ้านเกิดเหตุ จากนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าห้ามปรามโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดีตามที่กล่าวไปแล้วนั้น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอาวุธปืนมาเป็นหลักฐาน ไม่มีการตรวจเขม่าดินปืนจากจำเลยที่ 1 และแกนกระสุนปืนของกลางก็เก็บได้หลังเกิดเหตุหลายชั่วโมง ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นแกนกระสุนปืนชนิดใด ขนาดใด นอกจากนี้ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัด และกระสุนปืนลั่น 1 นัด ถูกกระเบื้องมุงหลังคาที่พิงอยู่ที่ผนังบ้าน แต่พยานหลักฐานของโจทก์พบเพียงแกนกระสุนปืน 1 นัด ไม่พบปลอกกระสุนปืน หรือร่องรอยกระสุนปืนที่กระเบื้องหลังคาที่ถูกกระสุนปืนหรือร่องรอยกระสุนปืนที่ผนังบ้านแต่อย่างใด ที่โจทก์นำสืบมาจึงยังมีข้อระแวงสงสัยว่า จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนจริงหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีอาวุธปืนมาเป็นหลักฐาน และไม่มีการตรวจเขม่าดินปืนจากจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนพกชนิดลูกโม่สีดำ และใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงขึ้นฟ้า 1 นัด จากนั้นเมื่อจำเลยทั้งสี่เข้ามาในบ้านเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 จ้องเล็งอาวุธปืนมาที่ศีรษะของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงวิ่งเข้าไปหาจำเลยที่ 1 และจับมือของจำเลยที่ 1 เพื่อแย่งอาวุธปืน เป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนถูกกระเบื้องมุงหลังคาซึ่งวางไว้ที่พื้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ใช้เป็นอาวุธปืนพกชนิดลูกโม่ เมื่อยิงออกไปแล้วปลอกกระสุนปืนย่อมคงอยู่ในลูกโม่ปืน การที่ไม่พบปลอกกระสุนปืนในที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ข้อพิรุธ และเมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายประกอบสำนวนแล้ว จะเห็นได้ว่า มีร่องรอยของกระสุนปืนที่กระเบื้องมุงหลังคาที่วางพิงผนังบ้านตามที่ผู้เสียหายเบิกความ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ไม่พบร่องรอยกระสุนปืนที่กระเบื้องมุงหลังคาจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วนที่ไม่พบร่องรอยกระสุนปืนที่ผนังบ้านเนื่องจากตำแหน่งของวิถีกระสุนปืนตามภาพถ่ายประกอบสำนวนดังกล่าวอยู่ในลักษณะทิศทางจากบนลงล่าง ทำให้กระสุนปืนตกไปถูกพื้นซึ่งไม่ใช่ข้อพิรุธเช่นกัน สำหรับแกนกระสุนปืนของกลางแม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นแกนกระสุนปืนชนิดใด ขนาดใด นั้น ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะผู้เสียหายยืนยันแล้วว่า เป็นกระสุนปืนซึ่งถูกยิงมาจากอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 มีและพามา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในเรื่องนี้จึงรับฟังไม่ได้ และที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า เดิมบ้านเกิดเหตุเป็นของนางจบ ต่อมานางจบแพ้คดีต่อมารดาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นางจบจึงย้ายไปอยู่ที่จังหวัดปัตตานี และปล่อยบ้านทิ้งเป็นบ้านร้างเป็นที่มั่วสุมเสพยาเสพติด โดยไม่ปรากฏว่านางจบให้ผู้ใดครอบครองดูแลแทน การที่ผู้เสียหายเข้าไปอยู่ในบ้านเกิดเหตุจึงเป็นการเข้าไปอยู่โดยพลการ ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์นั้น เห็นว่า ได้ความจากผู้เสียหายว่า บ้านเกิดเหตุเป็นบ้านของนางจบมารดาภริยาของนายวิสุตร น้องชายของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหาย ภริยาของผู้เสียหาย นายวิสุตร และภริยาของนายวิสุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านเกิดเหตุ และผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า นางจบย้ายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ หลังจากนั้นผู้เสียหายและนายวิสุตรเข้ามาพักในบ้านเกิดเหตุ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายประกอบสำนวน จะเห็นได้ว่า ขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุมีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ได้มีลักษณะถูกทิ้งเป็นบ้านร้างดังที่จำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างในฎีกา พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลเชื่อได้ว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของนางจบ และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก ซึ่งแม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า นางจบเคยฟ้องนางสาว มารดาของจำเลยที่ 1 และนางเนี่ยม มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกอีกคนหนึ่งเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่า ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของนางจบก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า นางจบซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ ให้ยกอุทธรณ์ของนางจบ ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังได้ว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในเรื่องนี้จึงรับฟังไม่ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมานั้นมีน้ำหนักมั่นคง ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืนไปด้วย จากนั้นจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย และจำเลยที่ 4 ลักเงิน 4,000 บาทเศษ ของผู้เสียหายไป แล้วจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหายในบ้านเกิดเหตุ จำเลยทั้งสี่จึงกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการต่อมาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมาในข้อเดียวกันคือข้อ ค. โดยการกระทำที่บรรยายฟ้องในข้อดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นสองกรรมเกินจากที่ได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเรียงกระทงมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ แต่สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์นั้น จากข้อเท็จจริงในคดีเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อถามหานายวิสุตร น้องชายของผู้เสียหาย แต่เมื่อไม่พบนายวิสุตร จึงได้ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหายโดยเตะพัดลมตั้งพื้นจนหัก รื้อค้นเสื้อผ้าจนกระจัดกระจายและบางตัวมีการดึงฉีกจนขาด และกระทืบรถจักรยานยนต์ 2 คัน จนอุปกรณ์ชำรุดและแตก ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปถามหานายวิสุตร จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการสุดท้ายมีว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำร้ายผู้เสียหายในบ้านเกิดเหตุในเวลากลางคืนโดยจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืนไปด้วยและจำเลยที่ 4 ลักเงินของผู้เสียหายไป นอกจากนี้จำเลยทั้งสี่ยังร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหายอีกด้วย นับเป็นการกระทำความผิดอย่างอุกอาจ ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย และกระทบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวม ประกอบกับจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีมาโดยตลอด หาได้รู้สำนึกในการกระทำความผิดของตนไม่ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน และความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 1 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นที่จำเลยทั้งสี่กระทำแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 13 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 3 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share