แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 (จำเลย) ไปยังผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคดีล้มละลายประมาณ 5 เดือนเศษ และต่อมาผู้คัดค้านที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 อันเป็นการทำให้เจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 เสียเปรียบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ถือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีล้มละลายคดีนี้เอง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่จะนำ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) มาใช้บังคับในกรณีไม่ได้
ส่วนการเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน การโอนนั้นก็ยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) (ซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 ในสำนวนนี้) เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2547 และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 11.9 ตารางวา ระหว่างลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 ซึ่งคงเหลือเนื้อที่ 1 งาน 84.9 ตารางวา ระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 โดยให้แก้ไขสารบัญทางทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 102026, 102027, 102991, 102992, 102993 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย รวม 5 โฉนด กลับมาเป็นชื่อของลูกหนี้ตามฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่สถานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ชดใช้ราคาที่ดิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ผู้คัดค้านที่ 5 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 (ซึ่งคงเหลือเนื้อที่ 35 ตารางวา) ซึ่งดาบตำรวจสมชายได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่สามารถเพิกถอนการโอนที่ดินและจำนองให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 5 ชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว มีอำนาจแต่งตั้งทนายความและคัดค้านคำร้องของผู้ร้องหรือไม่ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า เมื่อลูกหนี้ (ผู้คัดค้านที่ 1) ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดอำนาจจัดกิจการทรัพย์สินตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 22 ลูกหนี้จึงไม่อาจแต่งตั้งทนายความเข้ามาคัดค้านได้
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 โดยให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 99818, 102026, 102027, 102991, 102992 และ 102993 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 และ 114 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ผู้คัดค้านที่ 5 ร่วมรับผิดในที่ดินโฉนดเลขที่ 102026, 102027, 102991 ถึง 102993 เพียง 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ผู้คัดค้านที่ 5 ชดใช้เงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยก่อน คือ คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่วินิจฉัยว่า เมื่อลูกหนี้ (ผู้คัดค้านที่ 1) ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความเข้ามาคัดค้านในคดีได้นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินจากผู้คัดค้านที่ 1 ไปยังผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคดีล้มละลาย ประมาณ 5 เดือนเศษ และต่อมาผู้คัดค้านที่ 4 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าว 1 แปลง ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 อันเป็นการทำให้เจ้าหนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 เสียเปรียบตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ถือเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีล้มละลายคดีนี้เอง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้ จะนำพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งของศาลล้มละลายกลางในส่วนผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่ง แต่อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 มีประเด็นที่เกี่ยวพันกับผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความเป็นพยานไว้แล้วเพียงแต่ศาลล้มละลายกลางไม่นำคำคัดค้านตลอดจนพยานหลักฐานที่ลูกหนี้ (ผู้คัดค้านที่ 1) นำเข้าสืบมาวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาและทำคำสั่งใหม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 11.9 ตารางวา หรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามที่ปรากฏในโฉนดที่ดิน อันเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้ร้องจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่เป็นคุณว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ผู้คัดค้านทั้งห้าจึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผู้คัดค้านทั้งห้านำสืบโดยมีผู้คัดค้านที่ 1 นายทวี ลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ และนายวิทยา หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวเป็นพยานว่า เจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2547 ห้างดังกล่าวได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 18468 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อนำมาจัดสรรในโครงการทรัพย์อนันต์ 2 แต่เนื่องจากยังไม่ได้ขออนุญาตค้าที่ดินและต้องการความรวดเร็วในการดำเนินการ ทั้งการจัดสรรที่ดินต้องใช้เงินลงทุนทำการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกันก่อนที่จะขาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ จึงมอบหมายให้ตัวแทนที่เป็นหุ้นส่วนและลูกจ้างรวมทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทน แต่ผู้คัดค้านทั้งห้าก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ เกี่ยวข้องเป็นเจ้าของที่ดินโดยการซื้อหรือชำระเงินค่าที่ดินแต่อย่างใด แม้จะได้ความต่อมาว่า ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 18468 ได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยอีก 6 แปลง และผู้ถือกรรมสิทธิ์บางคนได้ขออนุญาตค้าที่ดินที่แบ่งแยก ก็เป็นเรื่องเจ้าของที่ดินแต่ละคนดำเนินการเป็นส่วนตัว ไม่มีชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ว่ามีการนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 102026, 102027 และ 99818 ฝากเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 ดำเนินการกับทรัพย์สินของตนเองภายใต้ชื่อตัวการที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ นั้น ก็มีแต่สำเนาใบรับฝากเงินซึ่งเป็นเพียงหลักฐานการฝากเงินเข้าบัญชี แต่ไม่มีรายละเอียดแสดงแหล่งที่มาของเงิน ทั้งยอดเงินที่นำฝากก็ไม่สอดคล้องตรงกับราคาทุนทรัพย์ที่ซื้อขายที่ดินตามใบเสร็จรับเงินในราชการกรมที่ดิน ฟังไม่ได้ว่าเงินฝากดังกล่าวเป็นเงินค่าขายที่ดินพิพาท พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านทั้งห้านำสืบมายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 99818
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 11.9 ตารางวา ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นการกระทำที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 หรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 ล้มละลายเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 อันเป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า เป็นการกระทำที่ผู้คัดค้านที่ 1 (ลูกหนี้) และผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 (ผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้น) รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์แต่เพียงว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทไว้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ ในกิจการค้าปกติด้วยความจำเป็นทางธุรกิจ โดยไม่รู้เห็นการเป็นหนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 โดยผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ทั้งหลายต้องเสียเปรียบ อันเป็นการกระทำโดยฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนปัญหาว่าการเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวมีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 (ซึ่งคงเหลือเนื้อที่ 1 งาน 84.9 ตารางวา) จากผู้คัดค้านที่ 4 หรือไม่ ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 238 กล่าวคือ การเพิกถอนดังกล่าวไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนที่จะมีการขอให้เพิกถอนการโอน ได้ความตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ว่า ผู้คัดค้านที่ 5 เพียงรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 ไว้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามน้ำทรัพย์ โดยเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน มิได้มีการชำระค่าที่ดิน เท่ากับมิได้เสียค่าตอบแทน ประกอบกับผู้คัดค้านที่ 4 โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 5 ในวันที่ 7 กันยายน 2547 อันเป็นวันที่โจทก์ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคดีล้มละลาย ซึ่งต่อมามีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 6 ราย รวมเป็นเงิน 74,846,811.57 บาท น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 5 มีส่วนร่วมกับผู้คัดค้านที่ 4 ช่วยผู้คัดค้านที่ 1 ในการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ อันเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ศาลจึงสามารถเพิกถอนการโอนดังกล่าวข้างต้นให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้คัดค้านที่ 5 ได้ แต่ไม่กระทบถึงนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 (เนื้อที่ 35 ตารางวา) ระหว่างผู้คัดค้านที่ 5 กับดาบตำรวจสมชาย ซึ่งดาบตำรวจสมชาย ได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจึงเป็นกรณีไม่อาจโอนที่ดินแปลงดังกล่าวคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ผู้คัดค้านที่ 5 จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินแทนตามที่ผู้ร้องขอ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 5 ร่วมรับผิดในที่ดินโฉนดเลขที่ 102991 ถึง 102993 เป็นเงิน110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ผู้คัดค้านที่ 5 ชดใช้เงินจำนวน 70,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 (เนื้อที่ 35 ตารางวา) แก่ผู้ร้อง นั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 5 ร่วมรับผิดกับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ชดใช้ราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 102026, 102027 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ในกรณีไม่สามารถให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 5 มิได้มีส่วนในการจดทะเบียนทำนิติกรรมแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 (เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 11.9 ตารางวา) ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย มาเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 102026, 102027 แต่อย่างใด และที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ชดใช้ราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า การเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน การโอนนั้นก็ยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้อง อันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป คำสั่งของศาลล้มละลายกลางทั้งสองส่วนนี้จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
พิพากษาแก้เป็นว่า หากเพิกถอนแล้วไม่สามารถกลับคืนฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ผู้คัดค้านที่ 5 ร่วมรับผิดกับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ชดใช้ราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 102991 ถึง 102993 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นเงิน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ผู้คัดค้านที่ 5 ชดใช้เงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 99818 (เนื้อที่ 35 ตารางวา) ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ