คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6802/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 67 ตรี แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่แสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 โดยไม่มีเหตุอันสมควร เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้ว แต่กรณี เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายในช่วงหกเดือนของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 ที่จะนำมาหักได้ ประกอบกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.51) ของจำเลย ในช่องการคำนวณภาษีรายการที่ 4 ก็ยินยอมให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแล้ว จึงนำมาถือเป็นเงินได้ที่ต้องชำระเพิ่มเติมหรือชำระเกินในรายการที่ 5 เช่นนี้ โจทก์ย่อมนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในรายการที่ 4 มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ โดยไม่ต้องรอเมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ถึงจะนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาเครดิตภาษี โจทก์จึงไม่มีภาษีที่ชำระขาดที่จะต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำหลักเกณฑ์ตามหนังสือที่ กต.0723/ว.3956 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการคำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ที่ให้คำนวณเงินเพิ่มจากภาษีที่ชำระขาดโดยไม่คำนึงถึงภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย จึงเป็นการแปลความตามมาตรา 67 ตรี ในทางที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีและเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของหลักการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีของผู้เสียภาษี การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ ภ.ง.ด.73.1-02010171-25520325-002-00023 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2552 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.4/2/15/53 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2553
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ ภ.ง.ด.73.1-02010171-25520325-002-00023 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2552 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ.4/2/15/53 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2553 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท และให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 3,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.51) แสดงประมาณการกำไรสุทธิที่ต้องคำนวณภาษี 5,618,059 บาท มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในครึ่งแรกของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 จำนวน 18,409,954.71 บาท วันที่ 30 ตุลาคม 2549 บริษัททีเอ็นที ไฟแนนซ์ บี.วี. จำกัด เจ้าหนี้ของโจทก์สละสิทธิเรียกร้องหนี้ 93,261,356.20 บาท แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2550 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ว่ามีกำไรสุทธิ 115,636,767.05 บาท วันที่ 30 มีนาคม 2552 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ ภ.ง.ด.73.1-02010171-25520325-002-00023 พร้อมใบแนบหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลว่า โจทก์แสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้โจทก์เสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) เป็นเงิน 3,300,561.24 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว แต่ให้ลดเงินเพิ่มคงเหลือเรียกเก็บ 2,475,420.93 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้คิดเงินเพิ่มจากจำนวนภาษีที่ชำระขาด โดยไม่นำเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายที่เกิดขึ้นในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมาหักออกจากจำนวนภาษีที่ต้องชำระนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่แสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีโดยไม่มีเหตุอันสมควรเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายในช่วงหกเดือนของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 ที่จะนำมาหักได้ตามกฎหมาย ประกอบกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.51) ของจำเลยในช่องการคำนวณภาษีรายการที่ 4 ก็ยินยอมให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแล้ว จึงนำมาถือเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเพิ่มเติมหรือชำระไว้เกินในรายการที่ 5 เช่นนี้ โจทก์ย่อมนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในรายการที่ 4 จำนวน 18,409,954.71 บาท ที่โจทก์ได้จ่ายไปมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ 17,345,515.06 บาท โดยไม่ต้องรอเมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ถึงจะนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวมาเครดิตภาษีได้ดังที่จำเลยอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีภาษีที่ชำระขาดที่จะต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำหลักเกณฑ์ตามหนังสือที่ กค.0723/ว.3956 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการคำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ที่ให้คำนวณเงินเพิ่มจากภาษีที่ชำระขาดโดยไม่คำนึงถึงภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย จึงเป็นการแปลความตามมาตรา 67 ตรี ในทางที่เป็นผลร้ายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีและเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของหลักการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีของผู้เสียภาษี การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share