แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มีผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขายโดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้
ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยเอกสารหลายประเภท ดังที่บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ” เมื่อเอกสารที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใช้เป็นเอกสารสิทธิอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 จึงต้องปรับบทและนำโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 265 มาใช้บังคับแก่คดี ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางจิรวัฒน์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 10,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 4 (ที่ถูก ปรับจำเลยที่ 4) เป็นเงิน 10,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากจำเลยที่ 4 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ด้วย ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีผู้ปลอมเอกสารสิทธิสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2547 ขึ้นทั้งฉบับ โดยระบุว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้จะขายที่ดินเนื้อที่ 55 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา ตั้งอยู่ตำบลเกาะช้างใต้ กิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้จะซื้อในราคาหกร้อยหกสิบหกล้านบาท ต่อมาประมาณวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 4 ดำเนินการขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักธุรกิจชลบุรี โดยมีการนำเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายปลอมดังกล่าวยื่นประกอบการขอสินเชื่อโครงการรีสอร์ทของจำเลยที่ 4 ชื่อโครงการรีสอร์ทเกาะช้าง วงเงินขอสินเชื่อประมาณแปดร้อยล้านบาท แต่เมื่อธนาคารไปดำเนินการประเมินราคาและวิเคราะห์โครงการของจำเลยที่ 4 แล้ว ไม่อนุมัติสินเชื่อแก่จำเลยที่ 4 ที่ดินบนเกาะช้างที่จำเลยที่ 4 นำไปขอสินเชื่อนั้น เป็นที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 41 ซึ่งเป็นที่ดิน 1 ใน 6 แปลง ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นก่อนก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 4 ร่วมทุนกันมอบหมายให้จำเลยที่ 1 กับนางอัจฉรา ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 3 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ร่วมตามสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 ซึ่งต่อมามีการขอเลื่อนการโอนที่ดินกับจ่ายเงินมัดจำเพิ่มและเพิ่มราคาที่ดิน ตามบันทึกข้อตกลง การทำบันทึกข้อตกลงนั้น จำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 4 จำนวนห้าสิบล้านบาท เข้าบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 4 เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางขุนนนท์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2547 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงลายมือชื่อขอเปิดบัญชีในนามของจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และหากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดก็ขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการนั้น เห็นควรวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นข้อแรกว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีผู้ปลอมสัญญาจะซื้อจะขาย ของศาลจังหวัดระยอง โดยมีการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมในฐานะผู้จะขายแล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปใช้ติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมต่อศาล จะเห็นได้ว่าการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมโดยมีผู้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วม ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในการกระทำผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยเอกสารหลายประเภท ดังที่บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ” เมื่อเอกสารที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใช้เป็นเอกสารสิทธิอันเกิดจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จึงต้องปรับบทและนำโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 265 มาใช้บังคับแก่คดี การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 นั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์