แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานในฐานมูลละเมิดอันเกิดแต่นายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2558 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี จำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้อง บ. และ ก. ในมูลเหตุเรื่องผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ย ในคดีดังกล่าวแม้จะเป็นมูลมาจากเรื่องซื้อขายปุ๋ยพิพาทเดียวกันกับคดีนี้ แต่เป็นการกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ถูกฟ้องในแต่ละคดีต้องรับผิด จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดีการที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำพิพากษาให้ บ. และ ก. รับผิดต่อจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเนื่องจากผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ยโดยให้คืนเงินค่าซื้อปุ๋ยเป็นเงินจำนวน 3,147,950 บาท แก่จำเลยนั้น ก็เป็นมูลกรณีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงและประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดต่อจำเลย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่เป็นผู้จัดซื้อปุ๋ยตามสัญญาซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวเองและให้คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยสั่งจ่ายเงินให้แก่ บ. และ ก. เป็นเงินจำนวน 5,050,000 บาท และ บ. และ ก. ส่งปุ๋ยให้จำเลยบางส่วนคิดเป็นเงิน 2,002,050 บาท คงค้างชำระเป็นเงินจำนวน 3,047,950 บาท ตามที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งตามฟ้องแย้งในคดีนี้ ดังนั้น หากจำเลยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวจาก บ. และ ก. ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดอุบลราชธานีดังกล่าว ก็ย่อมทำให้ความรับผิดที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้งในคดีนี้ลดลงตามไปด้วยเพียงนั้น จึงชอบที่หากจำเลยบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2558 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีในส่วนที่ให้คืนเงินแก่จำเลยจำนวน 3,047,950 บาท เป็นจำนวนเท่าใด ให้นำมาหักออกจากความรับผิดชำระหนี้ของโจทก์คดีนี้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและค่าจ้างเดิม หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งและค่าจ้างเดิมไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 4,268,690 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 4,953,340 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 4,286,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (วันที่ 21 สิงหาคม 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมอบอำนาจให้นายทองปน ดำเนินคดีแทน โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการและศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยขาดสภาพคล่องทางการเงิน นายนิรันดร์ นักวิชาการสหกรณ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดเข้าไปตรวจสอบกิจการของจำเลย พบว่ามีการสั่งซื้อปุ๋ยจำนวนมากและมีใบส่งสินค้าจำนวน 8 ฉบับ คิดเป็นปุ๋ยจำนวน 9,600 กระสอบ และใบรับฝากสินค้าปุ๋ยฝากไว้ที่บริษัท เอส เอส ม้าแดง เฟอร์ทิไลเซอร์ จำกัด เมื่อมีการเรียกปุ๋ยที่ฝากไว้คืน โจทก์แจ้งสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานีให้เข้าไปตรวจสอบ แล้วโจทก์ให้นายถนอม พนักงานการตลาดของจำเลย เป็นผู้นำนายนิรันดร์และนายองอาจ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ไปตรวจดูปุ๋ยอ้างว่าบริษัทส่งปุ๋ยที่ฝากไว้คืนแล้ว ปุ๋ยที่ตรวจดูเป็นปุ๋ยที่ซื้อเชื่อมาภายหลัง แต่ยังไม่ได้ลงทางบัญชี เท่ากับเป็นการหลอกลวงนายนิรันดร์กับนายองอาจจนหลงเชื่อว่าเป็นปุ๋ยที่ส่งมาจากบริษัทจริง เป็นการทำหลักฐานอันเป็นเท็จและนายถนอมผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์เบิกความยืนยันถึงความไม่สุจริตของโจทก์ว่า โจทก์นำใบส่งสินค้าจำนวน 8 ฉบับ คิดเป็นปุ๋ย 9,600 กระสอบ มาให้นายถนอมลงชื่อเป็นผู้รับสินค้า แต่นายถนอมไม่ลงชื่อเพราะจำเลยไม่ได้รับปุ๋ย ทำให้โจทก์ไม่พอใจ แล้วโจทก์นำใบส่งสินค้าจำนวน 8 ฉบับ ที่นายภานุพงษ์ ประธานกรรมการดำเนินการในขณะนั้นลงลายมือชื่อผู้รับสินค้ามาให้นายถนอมบันทึกในบัญชีซื้อปุ๋ยและทะเบียนคุมสินค้า ไปหักออกจากบัญชีลูกหนี้ค่ามัดจำปุ๋ยเคมี 4,286,725 บาท แล้วยังให้นายถนอมพานายนิรันดร์และนายองอาจไปตรวจดูปุ๋ยที่ซื้อเชื่อมาภายหลัง แต่ยังไม่ได้ลงทางบัญชีบอกว่าเป็นปุ๋ยที่บริษัทรับฝากไว้ส่งมาทดแทนปุ๋ยเดิม โดยปุ๋ยเดิมจำหน่ายหมดแล้ว โจทก์ปฏิบัติผิดระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์ พ.ศ.2542 และคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์เรื่องวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ พ.ศ.2547 โดยเมื่อจำเลยยื่นฟ้องนายบุญหลายกับนายไกรวัล ต่อศาลและศาลประทับรับฟ้องแล้ว จะต้องปิดบัญชีเดิมและตั้งบัญชีใหม่ว่า บัญชีลูกหนี้ระหว่างดำเนินคดี เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ต้องปิดบัญชีเดิมและตั้งบัญชีใหม่ว่า บัญชีลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและคำแนะนำของนายทะเบียน หากโจทก์ปฏิบัติถูกระเบียบแล้วการส่งมอบปุ๋ยจำนวน 9,600 กระสอบ จะต้องนำมาตัดออกจากบัญชีลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่โจทก์นำไปตัดออกจากบัญชีค่ามัดจำปุ๋ยเคมีและความจริงแล้วไม่มีการส่งปุ๋ยจำนวน 9,600 กระสอบ จึงไม่สามารถนำมูลค่าปุ๋ยมาตัดออกจากบัญชีค่ามัดจำปุ๋ยเคมีได้ ต่อมาเมื่อนายบรรยงกับพวก ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์จำเลยร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีจึงได้มีการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่าโจทก์สั่งซื้อปุ๋ยจำนวน 5,050,000 บาท จากนายบุญหลายและนายไกรวัล ชำระเงินมัดจำล่วงหน้าให้แก่นายบุญหลายจำนวน 1,000,000 บาท แต่โจทก์ในฐานะผู้จัดการไม่ลงชื่อในฐานะตรวจสอบ อันเป็นการปฏิบัติผิดข้อบังคับของจำเลย ข้อ 89 (20) ที่ว่า อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการในเรื่องไม่รับผิดชอบตรวจสอบการรับจ่ายเงินทั้งปวงของจำเลยให้เป็นการถูกต้องตลอดจนรวบรวมใบสำคัญและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเงินของจำเลยไว้โดยครบถ้วน แต่ผู้ลงชื่อในฐานะตรวจสอบกลับเป็นผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบของจำเลย เมื่อพิจารณาถึงการสั่งซื้อปุ๋ยของโจทก์เป็นจำนวนมากถึง 5,050,000 บาท แล้วโจทก์ซื้อปุ๋ยจากนายบุญหลายและนายไกรวัลโดยชำระเงินล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับปุ๋ยก็ไม่ปรากฏว่า นายบุญหลายและนายไกรวัลเป็นพ่อค้าปุ๋ยรายใหญ่หรือมีศักยภาพในการจำหน่ายปุ๋ยเพียงใด หากไม่ซื้อปุ๋ยจากพ่อค้าปุ๋ยทั้งสองแล้ว จำเลยจะต้องได้รับความเสียหายอย่างไร หรือทำให้จำเลยไม่สามารถซื้อปุ๋ยจากที่อื่นได้อีก การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อปุ๋ยจากพ่อค้าปุ๋ยทั้งสองไม่มีเหตุผลที่จะต้องจ่ายเงินค่ามัดจำล่วงหน้าให้ก่อน การชำระเงินค่ามัดจำปุ๋ยล่วงหน้าเป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งเพราะตามหลักการค้าขายทั่วไปแล้วพ่อค้าปุ๋ยจะต้องส่งปุ๋ยให้ก่อนจึงจะนำใบส่งสินค้ามาเรียกเก็บเงินจากจำเลยในภายหลัง แต่กรณีนี้แม้โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะสั่งจ่ายเงินชำระค่าปุ๋ย แต่จำเลยก็ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้ก่อนทั้งที่ยังไม่ได้รับปุ๋ย โจทก์มีหน้าที่จะต้องตรวจสอบรับจ่ายเงินทั้งปวงของจำเลยให้เป็นไปโดยถูกต้องครบถ้วน แต่โจทก์ไม่ดำเนินการรักษาผลประโยชน์ให้แก่จำเลย ทั้งเป็นผู้ติดต่อทำสัญญาซื้อขายจากพ่อค้าปุ๋ยทั้งสองเอง เมื่อพ่อค้าปุ๋ยทั้งสองส่งปุ๋ยให้คิดเป็นเงิน 2,002,050 บาท คงค้างชำระ 3,047,950 บาท จำเลยจึงฟ้องนายบุญหลายและนายไกรวัลให้รับผิดชำระเงินมัดจำและเรียกค่าเสียหาย ศาลมีคำพิพากษาให้รับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย แต่โจทก์ก็ยังคงจ่ายเงินให้แก่นายบุญหลายอีก 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,413,575 บาท โดยให้นางสาวประพิศ พนักงานบัญชีของจำเลย ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์จัดทำบัญชีค่ามัดจำปุ๋ยเคมีอันเป็นการผิดระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์และคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ หากโจทก์มีเจตนาบริสุทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่โจทก์จะต้องรักษาผลประโยชน์ของจำเลยด้วยความสามารถเต็มกำลังของตนและจะต้องไม่ประพฤติปฏิบัติดังกล่าว พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงและยังได้ความอีกว่าโจทก์ให้นางสาวประพิศนำใบส่งสินค้าปุ๋ยปลอมจำนวน 8 ฉบับ คิดเป็นปุ๋ย 9,600 กระสอบ รวมเป็นเงิน 4,818,000 บาท บันทึกบัญชีซื้อปุ๋ยไปตัดเงินมัดจำปุ๋ยเคมีล่วงหน้าออกเป็น 3 วัน คือ วันที่ 19, 21 และ 24 พฤษภาคม 2549 ทำให้มูลหนี้ค่ามัดจำปุ๋ยเคมีของนายบุญหลายและนายไกรวัลได้ชำระหนี้หมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่ใบส่งสินค้าปุ๋ยจำนวน 8 ฉบับ ไม่มีสินค้าปุ๋ยส่งมาและตามใบรับฝากสินค้าปุ๋ยก็ไม่มีการรับฝากปุ๋ยด้วย ทำให้จำเลยเสียหายอย่างมาก ต่อมาโจทก์และนายภานุพงษ์เรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการ โจทก์และนายภานุพงษ์ชี้แจงให้ที่ประชุมทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยทำเป็นสัญญากู้เงินอ้างว่า คณะกรรมการดำเนินการที่ลงชื่อในสัญญาไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญากู้เงิน เพื่อนำสัญญากู้เงินไปปิดบัญชี สัญญากู้เงินแต่ละฉบับระบุว่า กู้เงินไปซื้อปุ๋ยใส่นาข้าว โดยจะนำเงินเปอร์เซ็นต์และเงินโบนัสมาตัดชำระหนี้ในแต่ละปี โจทก์ให้กรรมการดำเนินการแต่ละคนลงชื่อในสัญญาที่ยังไม่กรอกข้อความในคำขอกู้เงินระยะสั้น หนังสือกู้เงินระยะสั้นและหนังสือค้ำประกันซึ่งกรรมการดำเนินการแต่ละคนไม่ได้รับเงินกู้และปุ๋ย โจทก์ออกหลักฐานการรับเงินกู้ไว้ แล้วทำบันทึกขายปุ๋ยเคมีให้กรรมการดำเนินการแต่ละคนเท่าจำนวนเงินกู้ เท่ากับว่าปุ๋ยเคมีจำนวน 9,600 กระสอบ ได้จำหน่ายหมดแล้ว การประชุมคณะกรรมการดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบของจำเลยที่จะต้องจดในสมุดบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการและต้องประชุมเฉพาะที่เป็นกรรมการดำเนินการเท่านั้น การประชุมเป็นการประชุมกันเองไม่ใช่เป็นการประชุมของคณะกรรมการดำเนินการที่ถูกต้อง แล้วโจทก์ให้นายถนอมคำนวณหาตัวเลขว่า กรรมการดำเนินการแต่ละคนจะต้องทำสัญญากู้เงินคนละเท่าไร นายถนอมคำนวณจำนวนปุ๋ยและจำนวนกรรมการดำเนินการจำนวน 18 คน แล้ว คณะกรรมการดำเนินการชุดเก่าจำนวน 6 คน รับผิดชอบคนละ 190,000 บาทเศษ รวมเป็นเงิน 1,154,340 บาท แล้วนำไปตัดปุ๋ยออกจากทะเบียนคุมสินค้าที่มีการส่งสินค้าปุ๋ยปลอมและคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่จำนวน 12 คน รับผิดชอบคนละ 300,000 บาทเศษ รวมเป็นเงิน 3,799,000 บาท แล้วบันทึกลงทะเบียนสินค้าจำหน่ายปุ๋ยให้แก่กรรมการดำเนินการจำนวน 12 คน รวมยอดหนี้เงินกู้ทั้งหมด 4,953,340 บาท ตามรายละเอียดลูกหนี้เงินกู้ ตามใบส่งสินค้าปุ๋ยจำนวน 8 ฉบับ คิดเป็นปุ๋ยจำนวน 9,600 กระสอบ รวมเป็นเงิน 4,818,000 บาท แต่ยอดหนี้เงินกู้ของคณะกรรมการดำเนินการ รวมเป็นเงิน 4,953,340 บาท ต่างกัน 135,340 บาท เนื่องจากโจทก์นำปุ๋ยยี่ห้ออื่นที่โจทก์หลอกลวงนายนิรันดร์ตรวจสอบซึ่งมีราคาสูงกว่ามาเฉลี่ยให้คณะกรรมการดำเนินการกู้เพื่อซื้อปุ๋ยดังกล่าว หลังจากทำหนังสือกู้เงินระยะสั้นตามแล้ว ก่อนครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้ โจทก์ให้คณะกรรมการดำเนินการทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่ กรรมการดำเนินการบางคนที่ทราบความจริงจึงไม่ยอมทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่อีก ตามคำขอกู้เงินระยะสั้น หนังสือกู้เงินระยะสั้นและหนังสือค้ำประกัน หากนายนิรันดร์ไม่สามารถตรวจพบเหตุดังกล่าวก็จะทำให้ยอดหนี้ค่ามัดจำปุ๋ยเคมีถูกปิดบัญชีไปและกรรมการดำเนินการจำนวน 18 คน ที่ทำสัญญากู้เงินจะต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี นอกจากนี้โจทก์ให้นางสาวประพิณเป็นผู้ลงบันทึกบัญชีขายปุ๋ยตามจำนวนเงินที่กรรมการดำเนินการแต่ละคนกู้เงินไป พยานรู้สึกเอะใจว่ากรรมการดำเนินการถูกหลอกลวงให้ลงชื่อในสัญญากู้เงินตามคำแนะนำของโจทก์แล้ว พยานจดบันทึกบัญชีซื้อปุ๋ยเคมี รวมเป็นเงิน 4,818,000 บาท และจัดทำบัญชีขายปุ๋ยเคมีให้แก่กรรมการดำเนินการจำนวน 18 คน รวมเป็นเงิน 4,953,340 บาท เท่ากับว่าอ้างว่าปุ๋ยเคมีมีการจัดส่งมาจำนวน 9,600 กระสอบ ได้จำหน่ายหมดแล้วแสดงว่าโจทก์กับพวกรู้อยู่แล้วว่าไม่มีการส่งปุ๋ยมาก็ยังเรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการอ้างว่าเพื่อแก้ไขปัญหาของจำเลยโดยปกปิดความจริงที่ควรแจ้งให้คณะกรรมการดำเนินการทราบ แต่โจทก์กลับหลอกลวงให้คณะกรรมการดำเนินการลงชื่อในสัญญากู้เงินระยะสั้น แล้วดำเนินการทางบัญชีตามขั้นตอนจนกระทั่งตัดบัญชีเงินค่ามัดจำปุ๋ยเคมีล่วงหน้าของนายบุญหลายและนายไกรวัลออกจนหมดแล้วเท่ากับแสดงว่า นายบุญหลายและนายไกรวัลได้ชำระหนี้หมดแล้ว การกระทำของโจทก์มิใช่เป็นการแก้ไขปัญหาของจำเลย แต่เป็นการปกปิดความจริงอันเกิดจากการทุจริต พฤติการณ์ของโจทก์ส่อไปในทางเจตนาทุจริตโดยทำเป็นขบวนการ แม้จะไม่มีหลักฐานการรับเงินของโจทก์โดยมิชอบก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของโจทก์กับพวกแล้วน่าเชื่อว่าเกิดจากการทุจริตเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับและวินัยจำเลย ตามข้อบังคับจำเลย ข้อ 19 ข้อ 89 (8) (20) และระเบียบของจำเลยว่าด้วยวินัยการสอบสวนและการลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง พ.ศ.2547 ข้อ 7 (4) (5) (8) อันเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้าง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ และการกระทำของโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างและเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลย โจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องนายบุญหลายและนายไกรวัล ให้รับผิดตามสัญญาซื้อขายปุ๋ยต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2548 ซึ่งศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายบุญหลายและนายไกรวัลรับผิดต่อจำเลยในคดีดังกล่าว โดยให้คืนเงินค่าซื้อปุ๋ยเป็นเงิน 3,047,950 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้รับผิดค่าเสียหายที่หากนำไปขายต่อให้สมาชิกของจำเลยจะได้กำไรเป็นเงิน 100,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเพียงใด โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์กระทำละเมิดและผิดสัญญาจ้าง จำเลยย่อมได้รับความเสียหายตามความเป็นจริง ซึ่งนอกจากคดีนี้จำเลยได้ฟ้องนายบุญหลายและนายไกรวัล ในมูลเหตุเรื่องผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ยในเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2548 ซึ่งศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาให้นายบุญหลายและนายไกรวัลร่วมกันชำระเงิน 3,147,950 บาท หากรวมค่าเสียหายที่จำเลยได้รับในเรื่องการซื้อปุ๋ยจำนวนเดียวกันนี้มีจำนวนถึง 7,434,675 บาท เกินความเสียหายของจำเลยที่เกิดขึ้นจริงไปถึง 3,147,950 บาท ขัดต่อกฎหมายเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานในฐานมูลละเมิด อันเกิดแต่นายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ส่วนในคดีดังกล่าวจำเลยได้ฟ้องนายบุญหลายและนายไกรวัล ในมูลเหตุเรื่องผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ยต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2548 แม้จะเป็นมูลมาจากเรื่องซื้อขายปุ๋ยพิพาทเดียวกัน แต่เป็นการกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ถูกฟ้องในแต่ละคดีต้องรับผิด จึงไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่โจทก์อุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ดีเห็นว่า การที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีมีคำพิพากษาให้นายบุญหลายและนายไกรวัลรับผิดต่อจำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเนื่องจากผิดสัญญาซื้อขายปุ๋ยโดยให้คืนเงินค่าซื้อปุ๋ยเป็นเงินจำนวน 3,147,950 บาท แก่จำเลยนั้น ก็เป็นมูลกรณีสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงและประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง อันเป็นการผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อจำเลยซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการของจำเลยที่เป็นผู้จัดซื้อปุ๋ยตามสัญญาซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวเองและให้คณะกรรมการดำเนินการของจำเลยสั่งจ่ายเงินให้แก่นายบุญหลายและนายไกรวัลเป็นเงินจำนวน 5,050,000 บาท และนายบุญหลายและนายไกรวัลส่งปุ๋ยให้จำเลยบางส่วนคิดเป็นเงิน 2,002,050 บาท คงค้างชำระเป็นเงินจำนวน 3,047,950 บาท ตามที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งตามฟ้องแย้งในคดีนี้ ดังนั้น หากจำเลยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวจากนายบุญหลายและนายไกรวัลตามคำพิพากษาศาลจังหวัดอุบลราชธานีดังกล่าว ก็ย่อมทำให้ความรับผิดที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้งในคดีนี้ลดลงตามไปด้วยเพียงนั้น ที่ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2093/2548 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในส่วนที่ให้คืนเงินแก่จำเลย จำนวน 3,047,950 บาท เป็นจำนวนเท่าใดแล้ว ให้นำมาหักออกจากความรับผิดชำระหนี้ของโจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 3