คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า “ปลัดส้นตีน” ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 136 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า ไปเอาปืนมายิงให้ตาย อย่าให้ออกไปได้ แล้วจำเลยที่ 2 วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 1 เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไป โดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 136, 138, 295, 296, 392
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ ส่วนความผิดฐานอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายภัทร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 300,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391, 392 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุกคนละ 1 เดือน ฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ จำคุกคนละ 1 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 15 วัน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 เดือน 15 วัน ความผิดฐานอื่นและคำร้องของผู้เสียหายให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 จำคุก 2 เดือน อีกกระทงหนึ่ง เมื่อรวมกับโทษสำหรับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน 15 วัน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ ขณะที่ผู้เสียหายกับพวกออกปฏิบัติการตรวจพื้นที่และจะเข้าตรวจภายในร้านอาหารของจำเลยทั้งสอง ทั้งยังถูกจำเลยที่ 2 ทำร้าย โดยใช้ไม้เบสบอลเป็นอาวุธตีที่บริเวณแขนข้างซ้าย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บแต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นแรก เรื่องความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ โดยข้อนี้ จำเลยที่ 1 ปฏิเสธโต้แย้งอ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาดูหมิ่นผู้เสียหาย เพราะในวันเกิดเหตุผู้เสียหายเข้าไปในร้านโดยไม่แต่งเครื่องแบบและไม่มีหมายค้น ทั้งมิได้แสดงบัตรประจำตัวข้าราชการ จึงไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงาน เห็นว่า ข้อนี้ผู้เสียหายเบิกความยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า ก่อนขอตรวจค้นได้แสดงตนว่าเป็นปลัดอำเภอได้รับคำสั่งจากนายอำเภอให้มาตรวจสถานประกอบการ ทั้งได้ยื่นบัตรประจำตัวข้าราชการให้จำเลยที่ 1 ดู ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับเจือสมว่า ชายผู้มาขอตรวจค้นได้ยื่นบัตรประจำตัวข้าราชการให้ตนดูจริง ที่อ้างในทำนองว่าอาจเป็นบัตรปลอมดูเลื่อนลอยไร้เหตุผล เพราะจำเลยที่ 1 รับว่าก่อนหน้านั้นเคยมีปลัดอำเภอคนหนึ่งซึ่งจำเลยรู้จัก ชื่อปลัดเล็ก เข้าไปตรวจค้นที่ร้านของจำเลยที่ 1 มาแล้ว นอกจากนั้นยังเคยมีเจ้าพนักงานตำรวจไปขอตรวจค้นด้วย พฤติการณ์จึงแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 รับรู้ถึงการตรวจค้นโดยเจ้าพนักงานมาโดยตลอด จึงไม่มีเหตุที่จะมาอ้างถึงความไม่รู้อื่นใด ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ที่มาแสดงตนขอตรวจค้นได้ข่มขู่หรือมีการเรียกผลประโยชน์จากผู้ใด ดังนี้ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่แก่ใจแล้ว ข้ออ้างไม่รู้ว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานจึงฟังไม่ขึ้น ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ได้พูดจาดูหมิ่นผู้เสียหายจริงหรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหาย นายเรวัตร์ นายสมบูรณ์และนายพร้อมพงษ์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนประจำที่ว่าการอำเภอ ซึ่งร่วมไปด้วยในวันเกิดเหตุ ต่างยืนยันสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยที่ 1 ได้พูดจาให้ร้ายโดยใช้คำว่า “ปลัดส้นตีน” ซึ่งเป็นคำดูหมิ่น เหยียดหยาม ไม่ให้ความเคารพเจ้าพนักงานซึ่งกำลังปฏิบัติการตามหน้าที่ ข้ออ้างปฏิเสธของจำเลยที่ 1 ว่าตนไม่ได้พูดคำดังกล่าวนั้น ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกจะบิดเบือนปั้นแต่งขึ้นมาเองอย่างไร้เหตุผลและคุณธรรม เพราะข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายเพิ่งย้ายไปรับราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอบางปะอิน ก่อนเกิดเหตุเพียง 1 ปีเศษ และไม่เคยเข้าไปตรวจที่ร้านค้าของจำเลยที่ 1 มาก่อน กรณีจึงไม่มีเหตุให้น่าระแวงสงสัยเป็นอื่น ทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายได้พูดคุยอยู่กับจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นหญิงคนชายคน เสียงพูดของแต่ละคนย่อมแตกต่างอย่างสามารถแยกออก ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกจะจำผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่พอหักล้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามฟ้อง จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งจำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งว่า เป็นความผิดเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 มิได้ร่วมทำร้ายผู้เสียหายด้วย นอกจากพูดแต่เพียงว่า “ไปเอาปืนมายิงให้ตาย” เท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย มิใช่เพราะจำเลยที่ 1 เป็นคนสั่ง แต่เป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนช่วยเหลือใด เห็นว่า ภายหลังดูหมิ่นเจ้าพนักงานแล้ว จำเลยที่ 1 ยังไม่หยุดความแค้นเคือง กลับพูดจาเหมือนออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 บุตรชายไปเอาอาวุธปืนมา ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ปฏิบัติตาม แม้สิ่งที่ไปเอามานั้นเป็นไม้เบสบอล ไม่ใช่อาวุธปืน แต่ก็เป็นการเอามาในลักษณะใช้เป็นอาวุธเข้าตีทำร้ายผู้เสียหายทันที นับเป็นความต่อเนื่องเชื่อมโยงจากคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ขาดตอน ทั้งจำเลยที่ 1 ยังรับว่าตนเองก็ไปหยิบไม้กวาดจะไล่ตีผู้เสียหายด้วย ดังนี้ พฤติการณ์ย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมใจในอันที่จะทำร้ายผู้เสียหายร่วมกันอย่างชัดแจ้ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งข้อนี้จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กระทำโดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อจะให้ผู้เสียหายกับพวกออกไปจากร้านของตนเท่านั้น จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 กล่าวคำด่าเหยียดหยามผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้าน เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า ไปเอาปืนมายิงให้ตาย อย่าให้ออกไปได้ แล้วจำเลยที่ 2 วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 1 เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไป โดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน กรณีเป็นเหตุในลักษณะคดีอันเกี่ยวกับการปรับบทลงโทษจำเลย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 กับความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 15 วัน ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 อีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 2,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน 15 วัน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 6 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดและให้จำเลยที่ 1 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 เห็นสมควรจำนวน 40 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share