คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11959/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าหนี้เงินกู้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยและวันที่ลงในเช็คพิพาท จำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้
แม้การยื่นหรือส่งคำคู่ความต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และโจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้
การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลดังที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด…” การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าหนี้เงินกู้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยและวันที่ลงในเช็คพิพาทจำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้ใช้แบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้การยื่นหรือส่งคำคู่ความต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องโดยไม่ได้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 บัญญัติว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว ตามมาตรา 117 ” ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาเอกสารในสำนวนอันดับที่ 4 กับคำฟ้องโจทก์ว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ เพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share