คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16906/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดจงใจกลั่นแกล้งเป็นเหตุให้นายทะเบียนไม่ยอมรับการจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยและเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 1 ทราบคำสั่งของนายทะเบียนคืออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ไม่รับจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าตั้งแต่วันดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งห้านำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งแปดเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เกินกำหนด 1 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการนั้นเป็นการกระทำของโจทก์ทั้งห้าภายหลังอันเป็นเพียงผลที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งแปดตามที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้าง มิใช่การกระทำละเมิดต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งถึงที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าคนละ 315,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,575,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินคนละ 315,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งแปดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งแปดว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 1 รักษาการในตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 รักษาการในตำแหน่งกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีเพื่อให้สมาชิกสหภาพแรงงานรับรองการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย จำเลยทั้งแปดมีหน้าที่ตรวจสอบองค์ประชุม ต่อมานายประพนธ์ ผู้ตรวจสอบกิจการสหภาพแรงงานได้คัดค้านการจดทะเบียนต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในฐานะนายทะเบียนว่าการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวมีผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพจำนวน 4 คน เข้าร่วมประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เป็นเหตุให้นายทะเบียนมีคำสั่งว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะเพราะการประชุมไม่ครบองค์ประชุมตามที่กำหนดในข้อบังคับสหภาพแรงงาน จึงไม่สามารถที่จะรับจดทะเบียนกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยที่โจทก์ทั้งห้าได้รับเลือกตั้งในวันประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ได้ โจทก์ที่ 1 ทราบคำสั่งตามหนังสือเรื่องไม่รับจดทะเบียนกรรมการลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 โดยนายสุเทพ รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงชื่อ เห็นว่า โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดจงใจกลั่นแกล้งเป็นเหตุให้นายทะเบียนไม่ยอมรับการจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยและเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิด เมื่อโจทก์ที่ 1 ทราบคำสั่งของนายทะเบียนคืออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแล้วย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่าโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2547 แต่โจทก์ทั้งห้านำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งแปดเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากมูลละเมิดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 เกินกำหนด 1 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งห้าได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนโจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยและศาลฎีกามีคำสั่งถึงที่สุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2549 นั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเป็นการกระทำของโจทก์ทั้งห้าภายหลังอันเป็นเพียงผลที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งแปดตามที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้าง มิใช่การกระทำละเมิดต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งถึงที่สุด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งแปดฟังขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์โดยขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ทั้งห้าชนะคดีตามฟ้อง และชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ทั้งห้าไม่ขาดอายุความแล้วมิได้วินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป แต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ จึงชอบที่จะเรียกเก็บค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เป็นเงิน 200 บาท และชั้นฎีกา จำเลยทั้งแปดฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท เช่นกัน แต่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งแปดเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งแปด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งแปดตามลำดับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share