คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำฟ้องโจทก์จะระบุว่าเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ก่อนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาก็ตาม แต่ฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายเหตุการณ์การกระทำผิดเป็นลำดับก่อนหลังว่าเกิดเหตุกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ก่อนแล้วต่อมาจึงเกิดเหตุรับของโจร ทั้งในคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวน ก็มีข้อความระบุว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยได้รับของโจรโดยรับฝากรถจักรยานยนต์ที่ถูก ช. ผู้ต้องหาในคดีอื่นลักมา ซึ่งจำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วให้การรับสารภาพ พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยเข้าใจดีว่าเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เห็นได้ว่าเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด และวันเวลาที่เกิดเหตุเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องกล่าวในฟ้องเพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาเท่านั้น มิใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้และให้การรับสารภาพ คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 92 และเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 4 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายเหตุการณ์การกระทำความผิดเป็นลำดับก่อนหลังว่าได้เกิดเหตุการณ์กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ก่อนแล้วต่อมาจึงเกิดเหตุรับของโจร อีกทั้งข้อเท็จจริงในสำนวนที่ปรากฏตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 10.50 นาฬิกา (ที่ถูก เวลาประมาณ 10 นาฬิกา) จำเลยได้รับของโจรคือ รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ยขล กรุงเทพมหานคร 813 แสดงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 เวลากลางวัน มิใช่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 (ที่ถูก วันที่ 7 สิงหาคม 2556) เวลากลางวัน ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง จึงเป็นเพียงการพลั้งเผลอในการเรียงพิมพ์และพิมพ์ฟ้องผิดพลาดเท่านั้น ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพ จึงมิได้เป็นเหตุให้จำเลยหลงข้อต่อสู้นั้น เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และคดีนี้คำฟ้องของโจทก์ระบุว่าเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ก่อนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาก็ตาม แต่ฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายเหตุการณ์การกระทำความผิดเป็นลำดับก่อนหลังว่าเกิดเหตุการณ์กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ก่อนแล้วต่อมาจึงเกิดเหตุรับของโจร ทั้งในคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลยานนาวาซึ่งขอฝากขังจำเลย มีข้อความระบุว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยได้รับของโจรคือรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ยขล กรุงเทพมหานคร 813 รวมราคาประมาณ 20,000 บาท โดยรับฝากรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวที่ถูกลักมาโดยนายชัยเทพหรือกลิ่น ผู้ต้องหาในคดีอื่น ซึ่งจำเลยได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวแล้ว ทั้งจำเลยยังให้การรับสารภาพในคดีนี้อีกด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่าจำเลยเข้าใจดีว่าเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ภายหลังที่นายชัยเทพลักรถจักรยานยนต์ของกลางแล้ว การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเหตุรับของโจรเกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เป็นที่เห็นได้ว่าเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด ซึ่งวันเวลาที่เกิดเหตุเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องกล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เพื่อให้จำเลยเข้าใจข้อหาเท่านั้น มิใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้โดยให้การรับสารภาพ คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งคดีนี้มิใช่เป็นคดีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบา เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วเพื่อให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลยก่อนเพิ่มโทษและลดโทษมีกำหนด 4 ปี นั้น หนักเกินไป สมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสมแก่สภาพความผิด
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี

Share