คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5502/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์มีระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 บังคับใช้ โดยข้อ 21 กำหนดว่า “ถ้ารัฐวิสาหกิจเลิกจ้างพนักงานโดยพนักงานมิได้มีความผิดตามข้อ 46 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามข้อ 8 และข้อ 20 ด้วย” และข้อ 46 ตามระเบียบดังกล่าวกำหนดกรณีรัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้หลายกรณีรวมทั้งการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ดังนั้นกรณีการเลิกจ้างที่รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีต้องเป็นกรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจทำผิดร้ายแรงเท่านั้น เมื่อคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวด 3 ข้อ 2.3.2 กำหนดว่า “ไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทจะไม่จ่ายเงินตอบแทนให้แก่พนักงานผู้ซึ่งสมัครใจไม่หยุดพักผ่อนประจำปีเว้นแต่ในกรณีที่พนักงานออกจากงานระหว่างปีโดยไม่มีความผิดและยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี” จึงต้องแปลให้สอดคล้องกับระเบียบดังกล่าวว่าการออกจากงานโดยไม่มีความผิดตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 นั้น หมายถึงไม่มีความผิดร้ายแรงนั่นเอง
ตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวดที่ 8 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ ข้อ 2.9 กำหนดแนวทางพักงานระหว่างสอบสวนไว้ว่า “การพักงานระหว่างสอบสวนก็เพื่อให้บริษัทสืบสวนและสอบสวนโดยอิสระว่าพนักงานกระทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ซึ่งโดยปกติจะใช้เมื่อมีความผิดร้ายแรง พนักงานซึ่งถูกสั่งพักระหว่างสอบสวนแม้ว่าจะยังไม่ถือเป็นการลงโทษ แต่บริษัทจะพิจารณาจ่ายเงินเดือนให้เพียงร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในขณะพักงานพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีจนกว่าจะทราบผลการสอบสวนแน่ชัดว่าพนักงานไม่มีความผิดแล้วจึงจะจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบของค่าจ้างสำหรับระยะเวลาที่ถูกพักงานให้” จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการพักงานระหว่างสอบสวนก็เพื่อให้การสอบสวนกระทำโดยอิสระป้องกันไม่ให้พนักงานที่ถูกกล่าวหาไปยุ่งกับพยานหลักฐาน สำหรับการจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบนั้น คู่มือและระเบียบการพนักงานดังกล่าว หมวดที่ 9 ข้อ 2.9 กำหนดว่าจะจ่ายให้เมื่อพนักงานไม่มีความผิดอันมีความหมายอยู่ในตัวว่าพนักงานผู้นั้นไม่มีความผิดใดเลยไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 665,550 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 338,601 บาท เงินโบนัส 688,668 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 86,083.50 บาท ค่าชดเชย 1,377,360 บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนของนายจ้าง 876,537 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไป และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของต้นเงินดังกล่าวข้างต้นทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไป ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 31,246,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือสำคัญการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 1,010,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 21,051.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าจ้างระหว่างพักงานเพื่อสอบสวน 492,609 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สำหรับข้อเท็จจริงในเนื้อหาแห่งคดี ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบังคับคดี 2 ครั้งสุดท้ายโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคดีพิเศษ ได้รับเงินเดือนเดือนละ 126,300 บาท กำหนดจ่ายเงินเดือนทุกวันที่ 23 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและสั่งพักงานโจทก์ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำสั่งจำเลยที่ 24/2547 (130) ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่าโจทก์กระทำผิดวินัยที่ร้ายแรงหลายประการ จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเห็นว่าการบริหารงานและการปฏิบัติงานของโจทก์ผิดระเบียบปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ถือเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง เห็นสมควรให้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย คณะกรรมการจำเลยที่ 1 มีมติเห็นชอบ จำเลยที่ 1 จึงมีหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 อันเป็นวันที่สั่งพักงานตามหนังสือเลิกจ้าง สำหรับเหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างเลิกจ้างโจทก์ได้แก่
(1) ขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายคดี 3 โจทก์มอบหมายงานให้ทนายความภายในฝ่ายโดยไม่เป็นธรรม
(2) โจทก์ห้ามพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้คบหาสมาคมกับเพื่อนพนักงานในฝ่ายเดียวกัน
(3) โจทก์กำหนดบทลงโทษการปฏิบัติงานของพนักงานในฝ่ายเดียวกันโดยเลือกปฏิบัติ
(4) โจทก์ไม่มีความชอบธรรมในวิธีการจ่ายค่าทนายความ (incentive) กรณีทนายความคู่และเลือกปฏิบัติ
(5) ขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคดีพิเศษ โจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าประชุมตามคำสั่งของกรรมการ/รักษาการกรรมการผู้จัดการ และไม่เข้าร่วมบริหารในฐานะผู้บริหารเกี่ยวกับกิจกรรมอื่น ๆ ของบริษัท ไม่มาปฏิบัติงานที่บริษัทอย่างสม่ำเสมอโดยไม่แจ้งหยุดล่วงหน้าหรือย้อนหลัง ไม่ใส่ใจหรือสนใจงานที่ได้รับมอบหมายคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
(6) ขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งประจำกรรมการผู้จัดการ โจทก์มีการพูดจาหว่านล้อมให้พนักงานเข้าใจผิดและเกลียดชังเพื่อนพนักงานและผู้บังคับบัญชาและมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการลงลายมือชื่อในหนังสือคัดค้านการแต่งตั้งนายสิทธิศักดิ์ เป็นผู้จัดการฝ่ายคดี 3 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดในข้อกล่าวหาตาม (1) (2) (5) และ (6) แต่รับฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่กล่าวหาใน (3) และ (4) โดยกรณีตาม (3) ฟังว่าโจทก์ลงโทษนายอภินันท์ ซึ่งเป็นพนักงานที่เกียจคร้านและผลการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่มีความตั้งใจปฏิบัติงาน เช่นขาดงานโดยไม่ทราบเหตุผลถึง 3 วัน โจทก์ตักเตือนด้วยวาจาและให้นายอภินันท์รับทราบคำเตือนเป็นหนังสือ ส่วนนายเธนศ กระทำผิดละเมิดอำนาจศาล โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท แต่รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี โจทก์เห็นว่านายเธนศได้รับการลงโทษจากศาลตามสมควรแล้วและเป็นความผิดเฉพาะตัว จึงย้ายนายเธนศไปอยู่ฝ่ายนิติการซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีความและไม่มีโอกาสรับค่าตอบแทนแบบ incentive โดยให้ส่งเรื่องและคดีที่อยู่ในความดูแลคืนฝ่ายคดี 3 ทั้งหมด ต่อมานายเธนศขอโอกาสปรับปรุงตัวโดยขอย้ายกลับมาปฏิบัติงานด้านคดีความอีก โดยนายเธนศให้สัญญาว่าหากกระทำความผิดดังกล่าวอีกจะยอมลาออกและได้ทำหนังสือลาออกให้ไว้ แสดงให้เห็นถึงดุลพินิจในการลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์โดยกรณีนายเธนศถูกลงโทษจำคุกและปรับอันเป็นการขาดจริยธรรมในวิชาชีพและเป็นการฝ่าฝืนต่อคู่มือและระเบียบการพนักงาน หมวดที่ 8 วินัย การลงโทษและการร้องทุกข์ข้อ 1 เจตนารมณ์ (1.5) และข้อ 2 แนวปฏิบัติ 2.2 ก. (9) แต่โจทก์ไม่ได้ลงโทษเพียงแต่ย้ายงานนายเธนศและต่อมาย้ายกลับมาอยู่ฝ่ายบังคับคดีตามเดิม ส่วนนายอภินันท์เพียงแต่ไม่ปฏิบัติตามเป้าหมาย ขาดความกระตือรือร้นและรอบคอบในการปฏิบัติงาน โจทก์ถึงกับกล่าวโทษและตักเตือนให้ปรับปรุงการปฏิบัติงานรวมทั้งให้นายอภินันท์แสดงเจตนาไม่ประสงค์จะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อีก หากไม่สามารถปรับปรุงตนได้ แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ย่อมก่อให้เกิดความคลางแคลงใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นการเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรม อันเป็นการทำผิดคู่มือและระเบียบพนักงานของจำเลย หมวดที่ 8 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ ข้อ 2 แนวปฏิบัติ 2.1 ช. ละเว้นการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคีในระหว่างเพื่อนร่วมงาน และ 2.2 ค. การประพฤติปฏิบัติอันไม่สมควร (14) ก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคีในระหว่างพนักงานด้วยกัน ส่วนข้อกล่าวหาตาม (4) กรณีขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายว่าคดี 3 มีความไม่ชอบธรรมในวิธีการจ่ายค่าทนายความ (incentive) กรณีทนายความคู่และเลือกปฏิบัติ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า นายมานิต และนายพีระพงศ์ ได้รับมอบหมายให้ทำคดีร่วมกันโดยนายมานิตเป็นคนดำเนินการในคดีทั้งหมดด้วยตนเองคนเดียวแต่โจทก์แจ้งให้นำเงินค่าตอบแทนคดี (incentive) 50,000 บาท ไปมอบให้แก่นายพีระพงศ์ แล้ววินิจฉัยว่า การจ่ายคดีให้ทนายความผู้ใต้บังคับบัญชาทำคดีคู่กันย่อมก่อให้เกิดปัญหาเพราะโจทก์ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของทนายแต่ละคนในการทำคดีคู่กันได้ การเกิดปัญหาการแบ่งเงินค่าตอบแทนจากการจ่ายงานของโจทก์ โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เมื่อนายพีระพงศ์ไม่มีส่วนร่วมในการทำคดีแต่โจทก์กลับทวงถามให้นายมานิตจ่ายค่าตอบแทน (incentive) ให้แก่นายพีระพงศ์โดยมิได้สอบข้อเท็จจริงว่ามีส่วนร่วมทำคดีกันจริงหรือไม่ จึงเป็นการกระทำผิดตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวดที่ 8 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ ข้อ 2 แนวปฏิบัติ 2.2 ค. การประพฤติปฏิบัติอันไม่สมควร (1) เรียกเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์จากผู้อื่นเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้ขาดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน และทำให้ได้รับบำเหน็จความดีความชอบในงาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์มีระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 บังคับใช้ โดยระเบียบดังกล่าวข้อ 21 กำหนดว่า “ถ้ารัฐวิสาหกิจเลิกจ้างพนักงานโดยพนักงานมิได้มีความผิดตามข้อ 46 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามข้อ 8 และข้อ 20 ด้วย” และตามข้อ 46 กำหนดกรณีรัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้หลายกรณีรวมทั้งการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ดังนั้นกรณีการเลิกจ้างที่รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีต้องเป็นกรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจทำความผิดร้ายแรงเท่านั้น คู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวด 3 ข้อ 2.3.2 ที่กำหนดว่า “ไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทจะไม่จ่ายเงินตอบแทนให้แก่พนักงานผู้ซึ่งสมัครใจไม่หยุดพักผ่อนประจำปีเว้นแต่ในกรณีที่พนักงานออกจากงานระหว่างปีโดยไม่มีความผิดและยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี” จึงต้องแปลให้สอดคล้องกับระเบียบดังกล่าวว่า การออกจากงานโดยไม่มีความผิดตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 นั้น หมายถึงไม่มีความผิดร้ายแรงนั่นเอง เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงจึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินเดือนในระหว่างพักงานหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวดที่ 8 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ ข้อ 2.9 กำหนดแนวทางการพักงานระหว่างสอบสวนไว้ว่า “การพักงานระหว่างสอบสวนก็เพื่อให้บริษัทสืบสวนและสอบสวนโดยอิสระว่าพนักงานกระทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ซึ่งโดยปกติจะใช้เมื่อมีความผิดร้ายแรง พนักงานซึ่งถูกสั่งพักระหว่างการสอบสวนแม้ว่าจะยังไม่ถือเป็นการลงโทษ แต่บริษัทจะพิจารณาจ่ายเงินเดือนให้เพียงร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในขณะพักงานพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีจนกว่าจะทราบผลการสอบสวนแน่ชัดว่าพนักงานไม่มีความผิดแล้วจึงจะจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบของค่าจ้างสำหรับระยะเวลาที่ถูกพักงานให้” ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการพักงานระหว่างสอบสวนก็เพื่อให้การสอบสวนกระทำโดยอิสระป้องกันไม่ให้พนักงานที่ถูกกล่าวหาไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ส่วนการจะพักงานพนักงานคนใดระหว่างสอบสวนย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจออกคำสั่งซึ่งปกติจะใช้กับกรณีถูกกล่าวหาว่ามีความผิดร้ายแรง แต่ก็หาจำกัดว่ากรณีพนักงานถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงจะต้องสั่งพักงานระหว่างสอบสวนเสมอไปหรือกรณีพนักงานถูกกล่าวหาว่าไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักงานระหว่างสอบสวนไม่ได้ สำหรับการจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบนั้น คู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวดที่ 9 ข้อ 2.9 กำหนดว่าจะจ่ายให้เมื่อพนักงานไม่มีความผิดอันมีความหมายอยู่ในตัวว่าพนักงานผู้นั้นไม่มีความผิดใดเลยไม่ว่าจะเป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ ในกรณีของโจทก์เมื่อปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ใช่ความผิดร้ายแรงโจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบ โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างพักงานเพียงร้อยละห้าสิบพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าเท่านั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าอัตราค่าจ้างเดิมระหว่างโจทก์ถูกพักงานมีจำนวน 492,609 บาท ดังนั้นโจทก์คงมีสิทธิได้รับเพียงครึ่งเดียวคือ 246,304.50 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานเพื่อการสอบสวน 246,304.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share