แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 กับพวกเห็นว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 บริหารงานสหกรณ์โจทก์บกพร่องและทุจริต อาจสร้างความเสียหายให้แก่สหกรณ์โจทก์อย่างมาก กรณีมีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกเชื่อว่าสามารถดำเนินการประชุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 แล้วมีมติให้ปลดคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ออกและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดใหม่ ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถเข้าไปในที่ทำการสำนักงานของสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและเชิญเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นสักขีพยานตัดลูกกุญแจเพื่อเข้าไปทำงานในสำนักงานของสหกรณ์โจทก์ตามปกติ ประกอบกับวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 นายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยว่า การเรียกและจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับ ทำให้มติที่ออกมาไม่มีผลบังคับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 เข้าดำเนินการสหกรณ์โจทก์ต่อไป จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยอมปฏิบัติตาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งยี่สิบกระทำโดยประสงค์ต่อผลให้สหกรณ์โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยทั้งยี่สิบกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และปกป้องมิให้สหกรณ์โจทก์ได้รับความเสียหายต่อไป จึงมิใช่เป็นการจงใจหรือกลั่นแกล้งที่จะให้สหกรณ์โจทก์เกิดความเสียหาย จำเลยทั้งยี่สิบจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งยี่สิบพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินที่ตั้งอาคารและกิจการของสหกรณ์โจทก์เลขที่ 43/2 หมู่ที่ 4 ถนนสังฆสันติสุข แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ห้ามจำเลยทั้งยี่สิบพร้อมบริวารเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์โจทก์อีกต่อไป ห้ามจำเลยทั้งยี่สิบและตัวแทนจัดเก็บรายได้และรายจ่ายในกิจการสหกรณ์ ให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 3,593,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชำระค่าเสียหายวันละ 224,600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งยี่สิบและบริวารจะออกไปจากสหกรณ์โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึง 20 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การเกษตร คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 มีนายยูโซปเป็นรองประธานกรรมการ ทำหน้าที่ประธานกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์โจทก์ กับนายฐัตปกรณ์ รองประธานกรรมการสหกรณ์โจทก์ ลงลายมือชื่อและประทับตราโจทก์ฟ้องคดีนี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ไม่ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 และมีหนังสือถึงนายทะเบียนสหกรณ์แจ้งเหตุที่ยังไม่เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 แต่นายทะเบียนมีหนังสือลงวันที่ 10 มกราคม 2554 ว่า หลังจากวันสิ้นปีทางบัญชี วันที่ 31 มีนาคม 2553 สหกรณ์โจทก์ยังมิได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 ทำให้ยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการแทนกรรมการที่ครบวาระและลาออก โดยคณะกรรมการดำเนินการยังคงรักษาการตามข้อบังคับข้อ 69 เกิน 150 วัน และคำชี้แจงของสหกรณ์โจทก์ที่ว่าสหกรณ์โจทก์ยังไม่เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบงบการเงินจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และยังมีรายการทางบัญชีที่ยังไม่เรียบร้อย อีกทั้งยังต้องแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการขาดทุนสะสมเกินทุนสำรอง เห็นว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ดังนั้น นายทะเบียนสหกรณ์จึงสั่งให้สหกรณ์โจทก์เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ขอขยายระยะเวลาการประชุมใหญ่สามัญประจำปีไปเป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 และเมื่อถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ไม่เรียกประชุม แต่พาคณะกรรมการกับพนักงานไปประชุมสัมมนาที่จังหวัดนครนายก และมีหนังสือถึงนายทะเบียนสหกรณ์ขอขยายระยะเวลาการประชุมจากวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ไปเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2554 อีก ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 นั้นเองจำเลยที่ 1 กับพวกจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 ที่บริเวณลานจอดรถของสหกรณ์โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมและดำเนินการประชุม ที่ประชุมลงมติให้ปลดคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ออก และแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นรองประธานกรรมการ จำเลยที่ 4 เป็นเลขานุการ จำเลยที่ 5 เป็นเหรัญญิก จำเลยที่ 6 ถึงที่ 15 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 16 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 17 ถึงที่ 19 เป็นผู้ตรวจสอบกิจการ ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 อันเป็นวันเปิดทำการวันแรกจำเลยที่ 1 กับพวกไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจและเชิญเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นสักขีพยานแล้วตัดลูกกุญแจที่ทำการสำนักงานเข้าไปในสำนักงานของโจทก์ ครั้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 นายทะเบียนสหกรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การเรียกและจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับ ทำให้มติที่ออกมาไม่มีผลบังคับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 เข้าดำเนินกิจการของสหกรณ์โจทก์ต่อไป จำเลยทั้งยี่สิบยอมปฏิบัติตาม
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งยี่สิบกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 54 และข้อบังคับสหกรณ์โจทก์ ข้อ 57 วรรคสอง บัญญัติสอดคล้องกันว่า ให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ ซึ่งนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีวันที่ 31 มีนาคม 2553 จะครบ 150 วัน ในวันที่ 28 สิงหาคม 2553 แต่เกิน 150 วันแล้วคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ยังไม่เรียกประชุมอ้างว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบงบการเงินและยังมีรายการทางบัญชีที่ไม่เรียบร้อย อีกทั้งยังต้องแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการขาดทุนสะสมเกินทุนสำรอง วันที่ 30 กันยายน 2553 สมาชิกสหกรณ์โจทก์ขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญ วันที่ 22 ตุลาคม 2553 ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์โจทก์ขอให้ถอดถอนคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 38 และเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 สหกรณ์โจทก์มีหนังสือขอขยายเวลาการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 เป็นวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ครั้นถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ไม่ได้เรียกประชุม กลับพาคณะกรรมการและพนักงานไปประชุมสัมมนาที่จังหวัดนครนายก จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงถึงเจตนาของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 พยายามบ่ายเบี่ยงไม่เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 และฝ่าฝืนคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์อย่างมีข้อพิรุธจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กับพวก ซึ่งเห็นว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 บริหารงานสหกรณ์โจทก์บกพร่องและทุจริตจนกระทั่งไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาจำหน่ายให้แก่สมาชิก และค้างจ่ายเงินเดือนพนักงานสหกรณ์โจทก์ในเดือนกันยายน 2553 อาจสร้างความเสียหายให้แก่สหกรณ์โจทก์อย่างมากจึงไม่อาจทนเห็นความเสียหายจากการบริหารและปฏิบัติงานของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ต่อไป กรณีมีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกเชื่อว่าสามารถดำเนินการประชุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ดังกล่าว แล้วมีมติให้ปลดคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ออกและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดใหม่ ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกและพนักงานของโจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำงานในที่ทำการสำนักงานของสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจและเชิญเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นสักขีพยานตัดลูกกุญแจเพื่อเข้าไปทำงานในสำนักงานของสหกรณ์โจทก์ตามปกติ ประกอบกับวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 นายทะเบียนสหกรณ์มีคำวินิจฉัยว่า การเรียกและจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับ ทำให้มติที่ออกมาไม่มีผลบังคับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 เข้าดำเนินการสหกรณ์โจทก์ต่อไป จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยอมปฏิบัติตาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่า จำเลยทั้งยี่สิบกระทำดังกล่าวโดยประสงค์ต่อผลให้สหกรณ์โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยทั้งยี่สิบกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และปกป้องมิให้สหกรณ์โจทก์ได้รับความเสียหายต่อไป จึงมิใช่เป็นการจงใจหรือกลั่นแกล้งที่จะให้สหกรณ์โจทก์เกิดความเสียหายตามที่โจทก์ฎีกา จำเลยทั้งยี่สิบจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ปัญหาอื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ