แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพิจารณาถึงการที่จำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโจทก์โดยชำระค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่ละภาคการศึกษาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดยโจทก์เพิ่งแจ้งให้ทราบภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาแล้วถึง 3 ปี ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยโจทก์ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักศึกษาตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบโดยจำยอมต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าว เพราะมิฉะนั้นอาจเป็นผลต่อการสำเร็จการศึกษา ทั้งสัญญาผูกพันการเข้าปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.9 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นสัญญาสำเร็จรูป โดยมีการพิมพ์ข้อความกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า และข้อความในสัญญาผูกพันการปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.9 มีใจความโดยสรุปว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยโจทก์ โดยไปปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์จัดการ หรือกำหนดให้ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยหรือในโรงพยาบาลอื่นเป็นเวลา 3 ปี หากจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญายินยอมชดใช้เงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงาน โดยต้องปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์เป็นผู้กำหนดหรือจัดหาให้เท่านั้น ซึ่งแม้มีกำหนดเวลาเพียง 3 ปี และมีค่าตอบแทนให้ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจเลือกได้เอง จึงถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ โดยต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ซึ่งตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 บัญญัติให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน 400,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ตามส่วนที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนด ค่าทนายความรวม 6,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 ใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยคริสเตียน โจทก์เปิดหลักสูตรการศึกษาคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและพยาบาลศาสตร์ขึ้น โดยรับนักศึกษาที่ผ่านขั้นตอนการสอบคัดเลือกของทบวงมหาวิทยาลัย และที่ผ่านการคัดเลือกของมหาวิทยาลัยโจทก์เอง ในปีการศึกษา 2542 จำเลยที่ 1 ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยโจทก์คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและพยาบาลศาสตร์ โดยในปีดังกล่าวจำเลยที่ 1 เข้าศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยโจทก์ ในปี 2545 มหาวิทยาลัยโจทก์ออกประกาศมหาวิทยาลัยโจทก์ที่ 448/2545 เรื่องระเบียบปฏิบัติการทำสัญญาเป็นนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ระดับปริญญาตรี โดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญว่า นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาในคณะดังกล่าวต้องทำสัญญาเข้าเป็นนักศึกษา และทำสัญญาผูกพันเมื่อสำเร็จการศึกษาตามสำเนาประกาศของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2545 วันที่ 6 กันยายน 2546 ระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากับโจทก์ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นสัญญาเข้าเป็นนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต ตามเอกสารหมาย จ.8 ฉบับที่ 2 เป็นสัญญาเข้าปฏิบัติงานเมื่อสำเร็จการศึกษาโดยมีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมเข้าปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่มหาวิทยาลัยโจทก์กำหนดให้ ตามเอกสารหมาย จ.9 โดยมีจำเลยที่ 2 ผูกพันตนเข้าทำสัญญาค้ำประกันการเข้าเป็นนักศึกษาของจำเลยที่ 1 และทำสัญญาค้ำประกันการเข้าปฏิบัติงานเมื่อสำเร็จการศึกษาของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ภายหลังจากจำเลยที่ 1 จบการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยโจทก์จัดให้จำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพที่โรงพยาบาลหัวเฉียว โดยเป็นการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาเข้าปฏิบัติงานที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 แต่ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2548 จำเลยที่ 1 ลาออกจากการทำงานที่โรงพยาบาลดังกล่าวโดยมีระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานตามสัญญาดังกล่าวเพียง 2 เดือน 13 วัน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า มหาวิทยาลัยโจทก์เพิ่งแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำสัญญาเข้าเป็นนักศึกษาและสัญญาผูกพันเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยต้องมีผู้ค้ำประกันการทำสัญญาดังกล่าวภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโจทก์แล้วโดยการปิดประกาศมหาวิทยาลัยโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อปี 2545 ทั้งไม่เคยแจ้งให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายที่กล่าวอ้างว่ามหาวิทยาลัยโจทก์ออกให้ว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างและเป็นจำนวนเงินเท่าใด เมื่อพิจารณาถึงการที่จำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโจทก์โดยชำระค่าใช้จ่ายในการศึกษาแต่ละภาคการศึกษาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย โดยโจทก์เพิ่งแจ้งให้ทราบในภายหลัง เมื่อจำเลยที่ 1 เข้าเป็นนักศึกษาแล้วถึง 3 ปี ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องทำสัญญาดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยโจทก์ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักศึกษาตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบโดยจำยอมต้องเข้าทำสัญญาดังกล่าว เพราะมิฉะนั้นอาจเป็นผลต่อการสำเร็จการศึกษา ทั้งสัญญาผูกพันการเข้าปฏิบัติงาน ตามเอกสารหมาย จ.9 และสัญญาค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นสัญญาสำเร็จรูปโดยมีการพิมพ์ข้อความกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า และข้อความในสัญญาผูกพันการปฏิบัติงาน ตามเอกสารหมาย จ.9 มีใจความโดยสรุปว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาแล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยโจทก์โดยไปปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์จัดการ หรือกำหนดให้ไม่ว่าในมหาวิทยาลัยหรือในโรงพยาบาลอื่นเป็นเวลา 3 ปี หากจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญายินยอมชดใช้เงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในประกอบอาชีพการงานโดยต้องปฏิบัติงานตามที่มหาวิทยาลัยโจทก์เป็นผู้กำหนดหรือจัดหาให้เท่านั้น ซึ่งแม้มีกำหนดเวลาเพียง 3 ปี และมีค่าตอบแทนให้ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจเลือกได้เอง จึงถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพโดยต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ซึ่งตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 บัญญัติให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่อาจเลือกประกอบอาชีพภายหลังสำเร็จการศึกษาได้โดยอิสระ โดยการเข้าทำสัญญาดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ไม่เคยคาดหมายมาก่อนเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ทราบถึงเงื่อนไขว่าจะต้องทำสัญญาดังกล่าวแต่แรก จำเลยที่ 1 อาจไม่ตัดสินใจเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโจทก์ ทั้งนี้เพื่อให้ตนไม่ต้องถูกจำกัดสิทธิในการเลือกสถานที่ทำงาน รวมทั้งความพึงพอใจอื่นในการตัดสินใจเข้าทำงานการบังคับตามสัญญาผูกพันการปฏิบัติงานภายหลังสำเร็จการศึกษา เอกสารหมาย จ.9 ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยสิ้นเชิง จึงสมควรให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ และเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นไม่ต้องถูกบังคับตามสัญญาผูกพันการปฏิบัติงานภายหลังสำเร็จการศึกษา เอกสารหมาย จ.9 แล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.13 ย่อมไม่มีความผูกพันต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 11,000 บาท