คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5991/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ยกคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องถึงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องฟัง ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคสอง, 18 และ ป.วิ.พ. มาตรา 147 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ผู้ร้องยังคงยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่เป็นครั้งที่สอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มาตรา 18 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 40 (7) ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ที่ผู้ร้องยื่นครั้งที่สองและส่งสำนวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อให้วินิจฉัยคำร้องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะคดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ไม่มีอำนาจที่จะรับวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก เดิมผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1068/2550 ของศาลจังหวัดลำพูน ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14815/2555 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ได้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องไปครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่อีกครั้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องไปแล้ว จึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคสอง คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ครั้งหลังของผู้ร้องต้องห้ามตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติว่า “คำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคคีหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว” จึงให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 211 โดยให้เหตุผลว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 18 เป็นบทบัญญัติตัดโอกาสผู้ร้องในการเสนอพยานหลักฐานใหม่ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 40 (7) ทั้งผู้ร้องไม่มีโอกาสขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยภายหลังคดีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องได้ถึงที่สุดแล้วจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 211 ไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฉบับแรก ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ศาลชั้นต้นส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาแล้วพิพากษายกคำร้อง ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด และมาตรา 18 บัญญัติว่า คำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคดีหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว ดังนี้ คดีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องจึงถึงที่สุดแล้วตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ผู้ร้องฟังเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ให้ศาลวินิจฉัยอีก ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่อีกเป็นครั้งที่สองและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้อง การที่ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 18 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 40 (7) หรือไม่นั้น ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ที่ผู้ร้องยื่นต่อศาลชั้นต้นเป็นครั้งที่สองและส่งสำนวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยคำร้องดังกล่าวซึ่งอ้างเหตุในลักษณะเดียวกันกับคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นในครั้งแรกอีกครั้งหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากคำขอท้ายฎีกาของผู้ร้องที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องฉบับดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้อง ตามคำร้องและคำร้องแก้ไขคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ฉบับลงวันที่ 18 และ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ตามลำดับ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องภายหลังคดีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ถึงที่สุดแล้ว ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงไม่รับคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยให้นั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาผู้ร้องที่ขอให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องฉบับดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัย และให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้อง ตามคำร้องและคำร้องแก้ไขคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ฉบับลงวันที่ 18 และ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ตามลำดับอีก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และยกฎีกาของผู้ร้อง

Share