คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11628/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องแบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แต่จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมิได้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 1 จึงกระทำผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดก โดยปราศจากความยินยอมของทายาททุกคนจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกยังมิได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 1 จึงถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง กรณีมิอาจนำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้ายมาใช้บังคับได้ เพราะมาตราดังกล่าวจะใช้บังคับต่อเมื่อการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 18944 ตำบลบางขุนเทียน (วัดราชโอรส) อำเภอจอมทอง กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2544 ระหว่างจำเลยทั้งสาม เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3032, 3033 และ 66486 ตำบลบางขุนเทียน อำเภอจอมทอง กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2544 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3028, 3029, 3030, 3031 และ66487 ตำบลบางขุนเทียน อำเภอจอมทอง กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2544 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เพิกถอนคำขอโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 18944 ตำบลบางขุนเทียน (วัดราชโอรส) อำเภอจอมทอง กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2524 กลับคืนเป็นทรัพย์มรดกของนายนารถ เพิกถอนคำขอโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 1943 ตำบลบางขุนเทียน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2524 กลับคืนเป็นทรัพย์มรดกของนายนารถ เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3782 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 60208 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2526 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 แบ่งปันที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 18944 ตำบลบางขุนเทียน (วัดราชโอรส) อำเภอจอมทอง กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน เป็นเนื้อที่ 140 ตารางวา แบ่งปันที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 3782 ตำบลบางบอน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน เป็นเนื้อที่ 1,572 ตารางวา แบ่งปันที่ดินโฉนดเลขที่ 66486 และ 66487 ตำบลบางปะทุน อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วนเป็นเนื้อที่ 16.5 ตารางวา หากจำเลยที่ 1 ไม่อาจแบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่นำที่ดินทรัพย์มรดกทั้งสามแปลงที่ยังคงเหลืออยู่ออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินไปแบ่งปันให้โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนารถ แบ่งปันที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 60207 ตำบลบางขุนเทียน อำเภอบางบอน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน หากจำเลยที่ 1 ไม่อาจแบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่ได้ ให้นำที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินไปแบ่งปันให้โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนารถ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 18944 ตำบลบางขุนเทียน (วัดราชโอรส) อำเภอจอมทอง กรุงเทพมหานคร ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2544 ระหว่างจำเลยทั้งสาม เพิกถอนคำขอโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 18944 ฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2524 เพิกถอนคำขอโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 1943 ฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2524 ของจำเลยที่ 1 เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3032, 3033 และ 66486 ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2544 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3028, 3029, 3030, 3031 ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2544 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนารถ เสียงสืบชาติ แบ่งปันที่ดินโฉนดเลขที่ 18944, 3027, 3028, 3029, 3030, 3031, 3032, 3033 และโฉนดเลขที่ 1943, 66486 และ 66487 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน หากจำเลยที่ 3 ไม่อาจแบ่งปันที่ดินทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสี่ได้ ให้นำที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินไปแบ่งปันให้โจทก์ทั้งสี่ 1 ใน 8 ส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 ขอถอนฎีกา จำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 ถอนฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นบุตรของนายนิพนธ์กับนางอารี นายนิพนธ์เป็นบุตรของนายนารถกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายนารถ มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นายนิพนธ์บิดาโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ 2 และ จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2515 นายนิพนธ์ถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2522 นายนารถถึงแก่ความตาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 3782 เป็นมรดกของนายนารถ จำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3782 เป็นแปลงย่อยจากแปลงเดิมอีก 2 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 60207 และ 60208 วันที่ 24 ธันวาคม 2524 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3782 ส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรม ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 60208 ที่แบ่งแยกออกไปให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรม
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 เพียงประการเดียวว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 60208 และโฉนดเลขที่ 3782 ขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสามให้การยอมรับว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3782 เป็นที่ดินมรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกก็ต้องมีหน้าที่แบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมด้วย แต่จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินให้เพียงจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยมิได้แบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 1 จึงกระทำผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดก ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ก็ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายนารถผู้ตายแล้วจำเลยที่ 1 ได้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายไปโดยไม่ชอบ ได้กระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกอย่างร้ายแรงอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าการครอบครองที่ดินมรดกทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เป็นการครอบครองเพื่อประโยชน์แก่ทายาททั้งหมด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในเวลาต่อมาจึงต้องถือว่าเป็นการกระทำในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อกระทำไปโดยปราศจากความยินยอมของทายาททุกคนจึงหามีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่ไม่ และเมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกยังมิได้ดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการจัดการทรัพย์มรดกไม่เสร็จสิ้นแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์กลับไปวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3782 ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2524 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 60208 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2526 โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2544 เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2522 ที่นายนารถเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเกินกว่า 10 ปี คดีระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 จัดการทรัพย์มรดกผิดหน้าที่โดยมิได้แบ่งปันให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกเป็นการจัดการทรัพย์มรดกโดยมิชอบ การจัดการทรัพย์มรดกจึงต้องถือว่ายังไม่เสร็จสิ้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวแทนทายาทอื่นทั้งหมด โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมิอาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคท้าย มาใช้บังคับได้ เพราะมาตราดังกล่าวจะใช้บังคับต่อเมื่อการจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ฎีกาโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3782 ฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 60208 ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2526 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายนารถ จัดการแบ่งทรัพย์มรดกในที่ดินโฉนดเลขที่ 3782 เนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน 77 ตารางวา (เป็นที่ดินโฉนดแปลงคงเดิม) ก่อนที่จำเลยที่ 1 ได้ทำการแบ่งแยกออกโฉนดในนามเดิมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2524 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่จำนวน 1 ใน 8 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share