คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ตายขับรถถอยหลังโดยไม่ดูให้ดีว่ามีรถคันอื่นอยู่ด้านหลังหรือไม่ และในระยะห่างเพียงใด ย่อมถือว่าผู้ตายขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พฤติการณ์ของผู้ตายที่มีเรื่องเขม่นกันกับคนร้ายมาก่อนแล้วขับรถปาดหน้ากัน ที่ผู้ตายถูกกลุ่มคนร้ายจอดรถขวางหน้าแล้วใช้อาวุธปืนยิงจนผู้ตายต้องขับรถถอยหลังมาชนรถโจทก์ย่อมไม่อาจยกเป็นข้ออ้างได้ว่ามิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทั้งการกระทำของผู้ตายก็มิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจอ้างเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 449 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าเป็นผู้ให้ความยินยอมผู้ตายนำรถที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไปขับ เมื่อเหตุละเมิดอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องผู้เอาประกันภัยจะมิใช่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เหตุละเมิดเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยและสัญญาประกันภัยมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 3 หาพ้นความรับผิดไม่
ดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดนับแต่วันทำละเมิด ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 เป็นไปตามสัญญาประกันภัย มิใช่ความรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ผิดนัดเมื่อถูกทวงถามแล้วเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนก่อนฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 277,188 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 258,120 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายอุดมชัย ผู้ตาย หรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ตายขับรถถอยหลังโดยไม่ดูให้ดีว่ามีรถคันอื่นอยู่ด้านหลังหรือไม่ และในระยะห่างเพียงใด ย่อมถือว่าผู้ตายขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่จำเลยทั้งสามแก้ฎีกาว่า ผู้ตายมิได้กระทำโดยประมาท แต่เป็นการหนีเอาชีวิตรอดจากภยันตรายที่ถึงตัวแล้วนั้น โจทก์มีนายชายสุดใจ คนขับรถแท็กซี่ของโจทก์เบิกความว่า ขณะที่พยานขับรถไปตามถนนรัตนาธิเบศร์มุ่งหน้าสะพานพระนั่งเกล้าเห็นผู้ตายและบุคคลผู้ไม่ทราบชื่อขับรถปาดหน้ากันไปมาและร้อยตำรวจเอกฉัตรเพชร พนักงานสอบสวนเบิกความว่า นายนิรันดร์ซึ่งนั่งรถมากับผู้ตายเล่าให้ฟังว่า ผู้ตายกับเพื่อนมารับประทานอาหารและดื่มสุราที่ร้านอาหารจูโน่ เมื่อออกมาที่จอดรถพบกลุ่มคนร้ายแล้วเขม่นไม่ถูกกัน คนร้ายขับรถตามมาแล้วต่างฝ่ายต่างขับรถแซงปาดหน้ากันไปมาหลายครั้งซึ่งสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความ พฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ตายที่มีเรื่องเขม่นกันมาก่อนแล้วขับรถปาดหน้ากัน การที่ผู้ตายถูกกลุ่มคนร้ายจอดรถขวางหน้าและใช้อาวุธปืนยิงจนผู้ตายต้องขับรถถอยหลังมาชนรถโจทก์ ย่อมไม่อาจยกเป็นข้ออ้างได้ว่ามิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทั้งการกระทำของผู้ตายก็มิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 วรรคหนึ่ง ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เนื่องจากศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องจึงยังมิได้วินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เมื่อคู่ความสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถกระบะหมายเลขทะเบียน ณอ 5925 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 1 มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2553 จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าเป็นผู้ให้ความยินยอมผู้ตายนำรถที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไปขับ เมื่อเหตุละเมิดเกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องผู้เอาประกันภัยจะมิใช่จำเลยที่ 1 ก็ตามแต่เหตุละเมิดเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยและสัญญาประกันภัยมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 3 หาพ้นความรับผิดไม่ ส่วนปัญหาว่าความเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น โจทก์มีนายจรัล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ภายหลังเกิดเหตุโจทก์นำรถไปซ่อมเสียค่าซ่อม 196,520 บาท ตามใบเสร็จรับเงิน และใช้เวลาซ่อม 40 วัน โดยปกติโจทก์สามารถให้เช่ารถแท็กซี่ได้ในอัตราวันละ 1,040 บาท ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ไป 41,600 บาท และโจทก์ขอคิดค่าเสื่อมราคา 20,000 บาท เห็นว่า ในส่วนของค่าซ่อมรถโจทก์มีใบเสนอราคาและใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมมาแสดง เมื่อพิจารณาสภาพความเสียหายของรถแท็กซี่ตามรูปถ่ายประกอบแล้ว โดยฝ่ายจำเลยมิได้ถามค้านโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเห็นควรกำหนดค่าซ่อมรถให้ตามที่โจทก์ขอ ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้นนายจรัลคงเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าก่อนเกิดเหตุรถแท็กซี่สามารถนำออกให้บุคคลอื่นเช่า ได้ค่าเช่าทุกวันจริงหรือไม่ และได้ค่าเช่าจำนวนเท่าใด เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์แล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้ 10,000 บาท สำหรับค่าเสื่อมราคานั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเช่าซื้อรถแท็กซี่มาเมื่อใด ในราคาเท่าใด ประกอบกับรถย่อมเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน จึงไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 206,520 บาท ส่วนดอกเบี้ยของค่าสินไหมทดแทนนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดนับแต่วันทำละเมิด ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 เป็นไปตามสัญญาประกันภัย มิใช่ความรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 3 นับแต่วันที่จำเลยที่ 3 ผิดนัดเมื่อถูกทวงถามแล้วเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนก่อนฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 206,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ย นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 19,068 บาท ตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตกทอดได้แก่ตน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share