คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งคำว่า “ทั้งนี้” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า ตามที่กล่าวมานี้ ดังนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่าตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มิใช่ครอบคลุมเฉพาะกรณีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเท่านั้น เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 58, 69, 91, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 42, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 92 ริบหลอดฉีดยาของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 58, 69 วรรคหนึ่ง, 91, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 8 เดือน ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพฝิ่นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานขับขี่รถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 15 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 20 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 เดือน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 58, 91 จำคุก 6 เดือน ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 900 บาท รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 900 บาท เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 16 เดือน และปรับ 1,200 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบหลอดฉีดยาของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งคำว่า “ทั้งนี้” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า ตามที่กล่าวมานี้ ดังนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่าตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มิใช่ครอบคลุมเฉพาะกรณีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทดังที่โจทก์ฎีกาเท่านั้น เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษปรับจำเลยหนึ่งในสาม ในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 บัญญัติว่า “…หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง” ดังนี้ การเพิ่มโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานดังกล่าวศาลอุทธรณ์เพียงแต่ลงโทษปรับ จึงเพิ่มโทษในความผิดฐานนี้ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษปรับจำเลยหนึ่งในสามในความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว 900 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 450 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share