แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ในคำฟ้องข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เวลากลางวันจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ตามลำดับ อันเป็นความผิด 2 กรรม ดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ร้าน บ. และที่ร้าน น. อันได้มีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนซึ่งแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนต์และวีดิทัศน์ที่ไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสและไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จำนวนกี่แผ่นเท่านั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ว่า ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นเป็นภาพยนตร์และวีดิทัศน์เรื่องใด จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 (2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 ประกอบมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 หรือเพื่อแสดงให้เห็นว่าวีดิทัศน์นั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึง ข้อ 2.9 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 15, 31, 61, 70, 75 และ 76 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25, 38, 43, 47, 54, 58, 78, 79, 80, 81 และ 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 858 แผ่น ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดเจ้าของลิขสิทธิ์ และริบแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งไม่แสดงเครื่องหมายการอนุญาตและไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์รวมจำนวน 7,268 แผ่น
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25, 38, 43, 47, 54, 58, 78, 79, 80, 81 และ 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 6 เดือน และปรับ 180,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานมีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการเพื่อนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาตและหมายเลขรหัสของวีดิทัศน์ และฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 200,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 380,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 190,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ของกลางที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ที่โจทก์อุทธรณ์สรุปได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำฟ้องข้อ 2.1 กรรมหนึ่ง ฐานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนซึ่งภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามคำฟ้องข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 อีก 2 กรรม และฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามคำฟ้องข้อ 2.10 ถึงข้อ 2.30 อีกกรรมหนึ่ง รวมเป็น 4 กรรม และขอให้ริบแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของกลางที่นำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสภาพยนตร์และวีดิทัศน์ นั้น เห็นว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำฟ้องข้อ 2.1 และฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามคำฟ้อง ข้อ 2.10 ถึงข้อ 2.30 แล้ว ส่วนความผิดฐานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนซึ่งภาพยนตร์และวีดิทัศน์เพื่อนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ตามคำฟ้องข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 นั้น มาตรา 43 และมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา 43 ภาพยนตร์ที่ผู้รับใบอนุญาตตาม…มาตรา 38 จะมีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนเพื่อนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายจะต้องเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา 25 และมีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์และหมายเลขรหัสเช่นเดียวกับ มาตรา 31
มาตรา 58 วีดิทัศน์ที่ผู้รับใบอนุญาตตาม…มาตรา 54 จะมีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนเพื่อนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายจะต้องมีลักษณะเช่นเดียวกับวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา 47 และมีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาตและหมายเลขรหัสเช่นเดียวกับมาตรา 31 ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 51 ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 38 หรือมาตรา 54 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 หรือมาตรา 58 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 38 มาตรา 54 มาตรา 25 มาตรา 47 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา 38 ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับสถานที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์แต่ละแห่ง
การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 54 ห้ามผู้ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน
ใบอนุญาตนั้น ให้ออกสำหรับสถานที่ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์แต่ละแห่ง
การขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 25 ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 47 วีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 31 ให้นายทะเบียนกลางกำหนดหมายเลขรหัสและประทับตราเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัสลงบนภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามมาตรา 25
ในกรณีที่นายทะเบียนกลางเห็นสมควรอาจสั่งให้ผู้ยื่นคำขออัดหรือบันทึกคำบอกแจ้งว่าภาพยนตร์ดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต รวมทั้งประเภทของภาพยนตร์ไว้บนภาพยนตร์และบนหีบห่อที่บรรจุภาพยนตร์นั้นด้วยก็ได้
การกำหนดหมายเลขรหัส ลักษณะเครื่องหมายการอนุญาตและประเภทของภาพยนตร์ หรือคำบอกแจ้งว่าภาพยนตร์ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตแล้วให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
แม้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ในคำฟ้องข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 จะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เวลากลางวันจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ตามลำดับ อันเป็นความผิด 2 กรรม ดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ร้านบิ๊ก บิ๊ก ซีดี ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 154/316 – 317 ถนนศรีสุริยวงศ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และที่ร้าน บ้านไร่ ซีดี (บิ๊ก บิ๊ก ซีดี สาขา 3) ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 216/6 ถนนมนตรีสุริยวงศ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ได้มีไว้ในสถานที่ประกอบกิจการของตนซึ่งแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่มีการแสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทของภาพยนตร์ และหมายเลขรหัส และไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จำนวนกี่แผ่นเท่านั้น โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ว่า ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นเป็นภาพยนตร์และวีดิทัศน์เรื่องใด จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด เช่น เป็นภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 (2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์นั้นมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 51 ประกอบมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 หรือเพื่อแสดงให้เห็นว่าวีดิทัศน์นั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 คำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2.2 ถึงข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ถึงข้อ 2.9 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 ได้ ส่วนแผ่นซีดีกับแผ่นดีวีดีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของกลางที่โจทก์ขอให้ริบนั้น เห็นว่า ของกลางดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวอันจะต้องริบหรือพึงริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 กรณีจึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง และมาตรา 82 ประกอบมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 79 ประกอบมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ยกฟ้องสำหรับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 58 และให้ยกคำขอให้ริบของกลาง สำหรับโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง