คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7326/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยที่ 1 จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้ช่วยเหลือบุคคลของตนเข้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ต้องสอบอันเป็นการไม่ชอบ แสดงว่ามีเจตนาร้ายมุ่งหวังต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) เป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจร้องขอให้เรียกทรัพย์สินแทนผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268, 343 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1,850,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 450,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 500,000 บาท และผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 350,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265, 343 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 ปี ยกคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ และยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารราชการ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1,850,000 บาท ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 450,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 500,000 บาท และผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 350,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เบิกความทำนองเดียวกันว่า ได้ทราบต่อเนื่องกันมาว่า จำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้านายของจำเลยที่ 2 สามารถฝากคนให้เข้าทำงานเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องสอบ แต่ต้องเสียเงินค่าป่วยการเป็นค่าใช้จ่ายที่จะดำเนินการ ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มอบเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ที่พูดว่าจะนำเงินไปให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปเอง ภายหลังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถพาเข้าทำงานตามที่ตกลงกันได้ โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 รายละ 50,000 บาท และได้คืนเงินให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 4 รายแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับในเวลาต่อมาว่า จำเลยที่ 1 รับเงินมาจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินเพื่อที่จะคืนเงินจำนวนที่รับมาให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 3 เป็นญาติสนิทกับจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2 รู้เห็นร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่น่าที่จะไปบอกกล่าวชักชวนญาติสนิทของตนให้ต้องถูกหลอกลวงได้รับความเสียหายไปด้วย อีกทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 มีส่วนในการกระทำความผิดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ขอให้ยกฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 และ 343 ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้ การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยก็ไม่มีผลเสียหายต่อการสอบสวนและการฟ้องคดี เมื่อฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและใช้เอกสารราชการปลอม ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 นั้น เห็นว่า การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยที่ 1 จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้ช่วยเหลือบุคคลของตนเข้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ต้องสอบอันเป็นการไม่ชอบ แสดงว่ามีเจตนาร้ายมุ่งหวังต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบ ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) เป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่อาจร้องขอให้เรียกทรัพย์สินแทนผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 บัญญัติไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share