แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์มิใช่ข้าราชการในกรมอัยการแต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลตามความหมายของคำว่า พนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (5) และเนื่องจากตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1
ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่งมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” จึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ จึงไม่ใช่บทบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้อง ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 49, 154, 157 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 154 ประกอบมาตรา 83 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดโดยไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีจากการขายทอดตลาดตามกฎหมายโดยทุจริต ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีจากการขายทอดตลาดเป็นเงิน 44,850,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 44,850,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 55,110,205 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์และไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าโจทก์คดีนี้เป็นพนักงานอัยการ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินการพิจารณาและพิพากษาตามรูปคดีต่อไป
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (5) บัญญัติไว้ว่า “พนักงานอัยการ หมายความถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้จะเป็นพนักงานอัยการในกรมอัยการหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้” แม้โจทก์มิใช่ข้าราชการในกรมอัยการแต่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่ออัยการสูงสุดได้รับรายงานและเอกสาร พร้อมทั้งความเห็นจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่งแล้ว เห็นว่า รายงาน เอกสาร และความเห็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งให้ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ให้อัยการสูงสุดแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้ระบุข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน ในกรณีนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นโดยมีผู้แทนจากแต่ละฝ่ายจำนวนฝ่ายละเท่ากันเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน” จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลตามความหมายของคำว่า พนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (5) และเนื่องจากตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจฟ้องและไม่อาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” จึงเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติให้สิทธิหน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐได้ จึงมิใช่บทบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งทางปกครองให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้อง ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง มิใช่ศาลยุติธรรมนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหารหรือก่อนวันนั่งพิจารณาครั้งแรก สำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่นในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว…” ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะไปดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน