แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความรับผิดในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญา คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงราย ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย และคดีในส่วนอาญาสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุด ดังที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย ดังนี้ ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์
ในระหว่างคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป บัญญัติในมาตรา 3 ว่าให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ย่อมมีผลให้ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ไม่อาจบังคับใช้ได้อีกต่อไป และไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดเป็นตัวการในความผิดอันเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์อีก ฉะนั้นการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเดิมเป็นความผิดเพราะมีฐานะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จึงเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองขอขมาโจทก์โดยประกาศขอขมาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ผู้จัดการรายวัน แนวหน้า คมชัดลึก มติชน สยามรัฐ บางกอกโพสต์ และกรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลาติดต่อกัน 10 วัน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสอง
ระหว่างพิจารณา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงว่าไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อเป็นใจความพอเข้าใจได้ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และมติชน เป็นเวลา 5 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์รับราชการตั้งแต่ปี 2523 เมื่อปี 2532 ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 เป็นหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ในสังกัดของกรมป่าไม้ ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 8 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ซึ่งขณะถูกฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 อยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลแพ่งในคดีล้มละลาย มีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันของจำเลยที่ 1 ได้ลงพิมพ์ข้อความข่าวเกี่ยวกับโจทก์มีรายละเอียดตามฟ้องออกวางจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โจทก์เห็นว่าข้อความข่าวตามฟ้องทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลจังหวัดเชียงราย และฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ต่อมาศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษาเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4950/2552 ยกฟ้องโจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน มีกำหนด 5 ครั้ง คนละวันกัน โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โจทก์ไม่ได้ฎีกาโต้แย้ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4950/2552 ของศาลจังหวัดเชียงราย และในการพิพากษาคดีนี้จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในส่วนอาญาหรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำผิดในทางอาญาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4950/2552 ของศาลจังหวัดเชียงราย ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4950/2552 ดังกล่าว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงรายว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย และคดีในส่วนอาญาสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุด ดังที่ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัย ดังนี้ ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในส่วนอาญาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการหมิ่นประมาทโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นในอนาคตนับแต่วันที่ใช้กฎหมายเป็นต้นไป ไม่มีผลย้อนหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ไม่นำมาใช้กับความผิดทางแพ่ง จำเลยที่ 2 ผู้เป็นบรรณาธิการ ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่มีการลงพิมพ์ข่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชอบในข้อความหรือสิ่งอื่นใดที่ตนคัดเลือกนำมาลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ทั้งหมดนั้น เห็นว่า ในขณะที่คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4950/2552 ของศาลจังหวัดเชียงรายอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป บัญญัติในมาตรา 3 ว่า ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ย่อมมีผลให้พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ไม่อาจบังคับใช้ได้อีกต่อไปโดยให้บังคับใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และไม่ปรากฏว่าพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องรับผิดเป็นตัวการในความผิดอันเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์อีก ฉะนั้นการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 เดิมเป็นความผิดเพราะมีฐานะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ