คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13875/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ หากโจทก์ต้องชำระหนี้จากการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อบริษัท อ. จำเลยที่ 1 จะรับผิดชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์นั้นเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอนั้น เมื่อบริษัท อ. มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับอ้างว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท อ. และเมื่อโจทก์ชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จำนอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนำ ย่อมต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน สัญญาจำนอง และสัญญาจำนำด้วย
จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า บริษัท อ. เป็นฝ่ายผิดสัญญากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีความรับผิดต่อบริษัท อ. โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ระงับการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันแล้วนั้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท อ. ซึ่งตามคำขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะโต้แย้งหรือยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้กับโจทก์ในการที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้หรือโต้แย้งกับบริษัท อ. เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวเอากับบริษัท อ. เองต่างหาก จำเลยทั้งห้าจะอ้างเหตุดังกล่าวให้ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 3,734,690.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,382,005.22 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ จำเลยทั้งห้ารับผิดชดใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์คืนเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 10,033,200.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,617,994.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่จำเลยที่ 2 แล้วเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้โจทก์ชำระเงิน 10,033,200.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 7,617,994.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 จำนวน 5,000 บาท และจำเลยที่ 2 จำนวน 15,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 2,382,005.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 20 มิถุนายน 2546) ต้องไม่เกิน 1,352,685.02 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 90655 และเลขที่ 90656 ตำบลบางไผ่ (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร กับที่ดินโฉนดเลขที่ 24728 ตำบลโคกกระบือ (โพแจ้) อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าในส่วนฟ้องโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด และมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนฟ้องแย้งว่า โจทก์ต้องรับผิดชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 10,033,200.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,617,994.78 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นทั้งสองดังกล่าวไปพร้อมกัน เห็นว่า บริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ติดตั้งและจัดหาอุปกรณ์เกี่ยวกับการควบคุมลมและท่อลมในโรงงานประกอบรถยนต์โอเปิลที่นิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก และตามสัญญาจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินมัดจำการทำงานล่วงหน้าจากบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทดังกล่าวจึงให้จำเลยที่ 1 ขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันให้ จำเลยที่ 1 จึงขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ในวงเงิน 10,000,000 บาท ตามคำขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน โดยมีข้อตกลงในข้อ 3 ระบุว่า เมื่อใดก็ตามที่ธนาคารได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้รับหนังสือค้ำประกันให้รับผิดชอบใช้เงินตามหนังสือค้ำประกัน ผู้ขอตกลงให้ธนาคารชำระเงินตามจำนวนที่ถูกเรียกร้องได้ทันที โดยไม่จำต้องแจ้งให้ผู้ขอทราบก่อนรวมทั้งผู้ขอสละสิทธิที่จะทักท้วงคัดค้านการจ่ายเงินของธนาคาร แม้ผู้ขอจะมีข้อต่อสู้ใดๆ ก็ตาม ในข้อ 4 ระบุว่าการปฏิบัติใดๆ ของธนาคารตามหนังสือค้ำประกันหากผู้ขอ และ/หรือธนาคารยังมีข้อต่อสู้เกี่ยวกับการไม่ต้องรับผิดชอบ หรือมีข้อต่อสู้อื่นใดกับผู้รับหนังสือค้ำประกันก็ตาม ผู้ขอสละสิทธิที่จะโต้แย้งหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับธนาคาร ในการที่ธนาคารไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้หรือโต้แย้งกับผู้รับหนังสือค้ำประกัน ทั้งนี้ โดยจะไปว่ากล่าวกับผู้รับหนังสือค้ำประกันเองเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก และในข้อ 7 ระบุว่า ผู้ขอตกลงชดใช้เงินที่ธนาคารได้ชำระแก่ผู้รับหนังสือค้ำประกัน และ/หรือชำระค่าธรรมเนียมการออก/ต่ออายุหนังสือค้ำประกันซึ่งผู้ขอค้างชำระอยู่กับธนาคาร (ถ้ามี) ให้แก่ธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ทั้งนี้ นับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงินให้แก่ผู้รับหนังสือค้ำประกัน และ/หรือนับจากวันที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวข้างต้น (แล้วแต่กรณี) ตลอดจนค่าใช้จ่ายใดๆ ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากผู้ขอ และ/หรือผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) แล้วโจทก์ออกหนังสือค้ำประกันตามคำขอของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ตามหนังสือค้ำประกัน เพื่อเป็นการรับรองการเรียกร้องของบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด สำหรับเงินมัดจำ เงินล่วงหน้า เงินดาวน์ และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำสัญญา และเพื่อสัญญาในการจ่ายเงินตามที่เรียกร้องให้แก่บริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อบริษัทดังกล่าวได้มีการเรียกร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ หากโจทก์ต้องชำระหนี้จากการที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด จำเลยที่ 1 จะรับผิดชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์นั้นเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอนั้น เมื่อบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับอ้างว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด และเมื่อโจทก์ชำระเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินดังกล่าวไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้จำนอง และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนำ ย่อมต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน สัญญาจำนอง และสัญญาจำนำด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมีความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีฝากประจำของจำเลยที่ 2 ซึ่งตามหนังสือสัญญาจำนำสิทธิที่จะถอนเงินจากบัญชีฝากประจำ ข้อ 2 และข้อ 3 ระบุว่า หากจำเลยที่ 1 มีหนี้สินค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์มีสิทธิที่จะนำเงินฝากตามบัญชีเงินฝากดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยมาหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ และจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์สามารถหักเงินตามบัญชีดังกล่าวได้ทันที โจทก์จึงมีสิทธิหักเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ทั้ง 7 บัญชี เป็นเงิน 7,617,994.78 บาท เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า บริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นฝ่ายผิดสัญญากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีความรับผิดต่อบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ระงับการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันแล้วนั้น เห็นว่า ข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งตามคำขอให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะโต้แย้งหรือยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้กับโจทก์ในการที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้หรือโต้แย้งกับบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวเอากับบริษัทไอซ์เซ็นมันน์ เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด เองต่างหาก จำเลยทั้งห้าจะอ้างเหตุดังกล่าวให้ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์มิได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งห้าในส่วนฟ้องโจทก์ และฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนฟ้องแย้งฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 โดยมิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share