แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
เอกชนเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๑๗๑ และเลขที่ ๑๗๒ ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่กรมที่ดิน จำเลยที่ ๒ และนายอำเภอหัวหิน จำเลยที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๒๐๓ เลขที่ ๓๐๒๐๔ และเลขที่ ๓๐๒๐๕ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินทั้งสามแปลง โดยที่ดินดังกล่าว เดิมเป็นที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๗๓ เลขที่ ๒๖๘๔ และเลขที่ ๑๔๘ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ซื้อมาจากผู้มีชื่อ และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา การออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ไม่มีผู้ใดคัดค้านและไม่ได้ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินได้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายสูงเกินส่วน และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ มอบอำนาจให้ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ร่วมรังวัดเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่และระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๑๗๑ และเลขที่ ๑๗๒ ของโจทก์ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๕๘
วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดหัวหิน
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดหัวหินส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ นายวิชิต วิกรานตโนรส โจทก์ ยื่นฟ้องนายสันติ ภิรมย์ภักดี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายอำเภอหัวหิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดหัวหิน เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๔๒๑/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) เลขที่ ๑๗๑ และเลขที่ ๑๗๒ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ ๒๕ ไร่ และ ๑๙ ไร่ ตามลำดับ โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ และเข้าทำประโยชน์ด้วยการปลูกสับปะรด และเลี้ยงสัตว์ตลอดมา ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินทั้งสองแปลงต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน แต่มีบุคคลอื่นขัดขวางและอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน และช่างรังวัดที่ดินแจ้งว่าไม่สามารถรังวัดสอบเขตที่ดินได้เพราะที่ดินทับซ้อนกับบุคคลอื่น โจทก์ตรวจสอบเอกสารที่ดินพบว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ได้แก้ไขรูปแปลงที่ดินให้เปลี่ยนแปลงไปจากหลักฐานเดิมและจัดทำเอกสารลงในใบไต่สวนให้ข้างเคียงผิดไปจากความจริง เพื่อเปิดทางให้ที่ดินของจำเลยที่ ๑ จดทางสาธารณประโยชน์ และจำเลยที่ ๓ โดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ ได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องในเอกสารการรังวัดและเขตทางสาธารณะ จำเลยที่ ๒ จึงได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๒๐๓ เลขที่ ๓๐๒๐๔ และเลขที่ ๓๐๒๐๕ ให้แก่จำเลยที่ ๑ อันเป็นการรุกล้ำทับซ้อนที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๐๒๐๓ เลขที่ ๓๐๒๐๔ และเลขที่ ๓๐๒๐๕ โดยที่ดินดังกล่าว เดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑๗๓ เลขที่ ๒๖๘๔ และเลขที่ ๑๔๘ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ซื้อมาจากผู้มีชื่อ และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาการออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ไม่มีผู้ใดคัดค้านและไม่ได้ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างซื้อที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดิน โจทก์มีเพียงสิทธิครอบครองและไม่ได้ครอบครองจริง ทั้งไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจำเลยที่ ๑ และมิได้ยกคดีขึ้นร้องหรือฟ้องที่โจทก์อ้างว่าถูกแย่งการครอบครองที่ดินภายใน ๑ ปี นับแต่วันแย่งการครอบครอง โจทก์เจตนาทุจริตบิดเบือนตั้งรูปคดีฟ้องจำเลยที่ ๒ ว่าออกโฉนดทับซ้อนที่ดินของโจทก์ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ทำการรังวัดออกเอกสารสิทธิตามที่เจ้าของที่ดินนำชี้และพิจารณาดำเนินการตามข้อเท็จจริงประกอบพยานหลักฐาน การออกโฉนดที่ดินได้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจำเลยที่ ๑ ขอออกโฉนดที่ดินและไม่ได้ยกคดีขึ้นร้องหรือฟ้องว่าถูกแย่งการครอบครองภายใน ๑ ปี และคดีขาดอายุความ จำเลยที่ ๓ มอบอำนาจให้ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ร่วมรังวัดเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่และระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดหัวหินพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครองจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และโจทก์มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๒๐๓ เลขที่ ๓๐๒๐๔ และเลขที่ ๓๐๒๐๕ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้จำเลย ทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ก็ตาม อย่างไรก็ตามเนื่องจากโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นเอกชน ต่างฝ่ายต่างอ้างว่ามีสิทธิโดยชอบในที่ดินซึ่งพิพาทกัน ดังนี้ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) เลขที่ ๑๗๑ และเลขที่ ๑๗๒ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และใครเป็นผู้มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่ากัน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และโดยที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติให้การดำเนินการออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของจำเลยที่ ๒ และพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในเขตอำเภอ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๖ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ ๕ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอตรวจสอบเนื้อที่ตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) เลขที่ ๑๗๑ และเลขที่ ๑๗๒ หมู่ที่ ๓ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน แต่มีเหตุขัดข้องเนื่องจากทับซ้อนกับที่ดินของจำเลยที่ ๑ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๒๐๓ เลขที่ ๓๐๒๐๔ และเลขที่ ๓๐๒๐๕ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โจทก์เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ได้แก้ไขรูปแปลงที่ดินให้เปลี่ยนแปลงไปจากหลักฐานเดิมและจัดทำเอกสารลงในใบไต่สวนให้ข้างเคียงผิดไปจากความจริง เพื่อเปิดทางให้ที่ดินของจำเลยที่ ๑ จดทางสาธารณประโยชน์ และจำเลยที่ ๓ โดยนายอรุณ สุขจำเริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ ได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องในเอกสารการรังวัดและเขตทางสาธารณะ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ จึงได้ออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่จำเลยที่ ๑ ไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๒๐๓ เลขที่ ๓๐๒๐๔ และเลขที่ ๓๐๒๐๕ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ ในการออกโฉนดที่ดิน และใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ของจำเลยที่ ๓ ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนนั้น เป็นกรณีมีมูลคดีเกี่ยวพันกันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) เลขที่ ๑๗๑ และเลขที่ ๑๗๒ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ และเข้าทำประโยชน์ด้วยการปลูกสับปะรด และเลี้ยงสัตว์ตลอดมา แต่ถูกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๐๒๐๓ เลขที่ ๓๐๒๐๔ และเลขที่ ๓๐๒๐๕ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับซ้อนที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๓๐๒๐๓ เลขที่ ๓๐๒๐๔ และเลขที่ ๓๐๒๐๕ โดยที่ดินดังกล่าว เดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑๗๓ เลขที่ ๒๖๘๔ และเลขที่ ๑๔๘ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ซื้อมาจากผู้มีชื่อ และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา การออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ไม่มีผู้ใดคัดค้านและไม่ได้ทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินได้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ มอบอำนาจให้ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ร่วมรังวัดเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่และระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าการออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๑๗๑ และเลขที่ ๑๗๒ ของโจทก์ อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายวิชิต วิกรานตโนรส โจทก์ นายสันติ ภิรมย์ภักดี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายอำเภอหัวหิน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ติดราชการ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ