แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของ ส. และของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ทำแทนโจทก์ การที่ ส. บิดาผู้ตาย ทำบันทึกข้อตกลงกับ ท. พนักงานขับรถของจำเลยจากการที่ ท. ทำละเมิดต่อผู้ตายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าจะไม่นำคดีไปฟ้องร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจาก ท. และจำเลย ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 757,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 720,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน 757,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 720,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ที่จำเลยฎีกาว่า บันทึกตกลงช่วยเหลือค่าสินไหมทดแทนเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยจึงระงับไป เห็นว่า สิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายของนายสิทธิชัยและของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคนมิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว และการที่นายสิทธิชัยไปทำบันทึกข้อตกลงกับนายทวนชัย เป็นเรื่องที่นายสิทธิชัยกระทำไปเพียงลำพัง โดยที่โจทก์มิได้มอบอำนาจให้ทำแทนโจทก์ด้วย จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายของโจทก์จึงไม่ระงับ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เคยฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ต่อศาลแขวงมิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว และการที่นายสิทธิชัยไปทำบันทึกข้อตกลงกับนายทวนชัย เป็นเรื่องที่นายสิทธิชัยกระทำไปเพียงลำพัง โดยที่โจทก์มิได้มอบอำนาจให้ทำแทนโจทก์ด้วย จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายของโจทก์จึงไม่ระงับ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เคยฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ต่อศาลแขวงลำปางเพียง 300,000 บาท แต่เมื่อรวมดอกเบี้ยเกินอำนาจศาลแขวงลำปาง โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ และโจทก์ไม่นำสืบถึงรายได้ของผู้ตายนั้นเห็นว่า แม้โจทก์จะเคยฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะเพียง 300,000 บาท ก็ไม่ผูกพันการวินิจฉัยกำหนดค่าขาดไร้อุปการะในคดีนี้ และค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิตามกฎหมายโดยไม่จำต้องคำนึงว่าระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ตายมีรายได้และเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่และเพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุ ผู้ตายอายุ 20 ปี โจทก์อายุ 40 ปี ที่โจทก์เรียกค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 720,000 บาท จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว มิได้สูงจนเกินสมควร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ