แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ให้หลักประกันเพื่อให้จำเลยที่ 2 เชื่อได้ว่าโจทก์จะปฏิบัติตามสัญญา หากโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจำเลยที่ 2 จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยที่ไม่ยอมย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายด้วยเงินที่ยึดถือไว้เป็นประกัน อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเบี้ยปรับที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 9 กันยายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาต่อโจทก์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระโจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวและส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 2025 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 ให้ครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 9,749,537.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนนี้ให้ตกเป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า โจทก์ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ และต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวระบุว่า ข้อ 1 ผู้ขายจะดำเนินการให้ผู้เช่าที่ประกอบกิจการและอยู่อาศัยในทรัพย์สินที่ซื้อขายทั้ง 19 ราย…ย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายทั้งหมดภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 หากผู้เช่าและผู้อาศัยทรัพย์สินที่ซื้อขายรายใดไม่ยอมขนย้าย…และ/หรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยที่ไม่ยอมย้ายออกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2546 ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ขายเองทั้งสิ้นจนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีด้วย ข้อ 2 ผู้ขายจะมอบเงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้ผู้ซื้อยึดถือไว้เป็นประกันค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยที่ไม่ยอมย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขาย และเงินจำนวนนี้ผู้ซื้อจะมอบคืนให้แก่ผู้ขายเมื่อผู้ขายดำเนินการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยที่ไม่ยอมย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายจนคดีถึงที่สุด และดำเนินการบังคับคดีจนผู้เช่าและผู้อาศัยทุกรายย้ายออกจากที่พิพาทโดยผู้ซื้อได้รับมอบพื้นที่เรียบร้อย ดังนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่โจทก์ให้หลักประกันเพื่อให้จำเลยที่ 2 เชื่อได้ว่าโจทก์จะปฏิบัติตามสัญญา หากโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยที่ไม่ยอมย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายด้วยเงินที่ยึดถือไว้เป็นประกัน อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แม้ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินโจทก์ขายที่ดินพร้อมตึกแถว 15 คูหา และบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระบุว่าผู้ขายต้องดำเนินการให้ผู้เช่าและผู้อาศัยที่อยู่ในทรัพย์สินที่ซื้อขายทั้ง 19 ราย ซึ่งหมายถึงตึกแถว 15 คูหานี้ ย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขาย โดยไม่ได้ระบุถึงตึกแถวเลขที่ 332/32-33 ก็ตาม แต่วัตถุประสงค์แห่งบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ซื้อต้องการให้ผู้ขายส่งมอบที่ดินโดยปราศจากผู้เช่าและผู้อาศัยรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่ซื้อ การที่โจทก์ละเลยไม่ดำเนินการขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยในตึกแถวเลขที่ 332/32-33 จนจำเลยที่ 2 ต้องฟ้องขับไล่เอง ถือได้ว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิริบเงินที่ยึดถือไว้เป็นประกันได้ อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ดำเนินการให้ผู้เช่าและผู้อาศัยที่อยู่ในทรัพย์สินที่ซื้อขายทั้ง 19 ราย รวม 15 คูหา ย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายแล้ว แสดงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาเป็นส่วนมากแล้ว คงเหลือเพียงผู้เช่าและผู้อาศัยในตึกแถวเลขที่ 332/32-33 เท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 จะริบเงินประกันเสียทั้งหมดนั้นย่อมมากเกินไป ศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 หักเงินประกันจำนวน 200,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยในตึกแถวเลขที่ 332/32-33 นั้นเหมาะสมแล้ว ส่วนโจทก์จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 อันเนื่องมาจากการส่งมอบที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าล่าช้าหรือไม่นั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ไม่ได้กำหนดระยะเวลาของการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยในที่ดินที่ซื้อขายว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด หากส่งมอบล่าช้ากว่าที่กำหนด โจทก์จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 ในการส่งมอบที่ดินที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าล่าช้า จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเบี้ยปรับที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วยนั้น ไม่ถูกต้องเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนไม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ