คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10338/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาเดิม พนักงานอัยการโจทก์ไม่สามารถติดตามตัว จ. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้ จึงจำเป็นต้องส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ จ. บันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาทั้งสองและบันทึกการชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งจำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาให้ จ. และพิมพ์ลายนิ้วมือในคำแปลไว้ กับจำเป็นต้องส่งบันทึกการสอบปากคำจำเลยในฐานะผู้ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาให้ จ. ฟัง เป็นพยานหลักฐานต่อศาล และเพื่อให้พยานดังกล่าวมีคุณค่าในการรับฟังจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำตัวจำเลยมาเบิกความยืนยัน การที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จโดยเบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นว่า จำเลยพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือลงในเอกสารทุกฉบับโดยที่จำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลและมิได้สาบานตัวว่าจะทำหน้าที่เป็นล่ามแปลต่อพนักงานสอบสวน ทั้งเบิกความด้วยว่าจำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามในการชี้ตัวและชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองเลย ความเท็จที่จำเลยเบิกความจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลย พยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ล่ามแปลของจำเลยดังกล่าว ย่อมเป็นพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นโดยมิชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เลย เพราะต้องห้ามมิให้โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก บัญญัติแต่เพียงว่า “ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี…” เท่านั้น แสดงว่าเพียงความเท็จที่ผู้กระทำผิดเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์ความจริงได้ก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ตามองค์ประกอบความผิดดังกล่าวหาได้ระบุว่าต้องเป็นข้อสำคัญในคดีถึงขนาดที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ได้แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี เห็นควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี พิเคราะห์การกระทำของจำเลยแล้วนับว่ามีความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม จึงไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ความเท็จที่จำเลยเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ เห็นว่า ตามถ้อยคำสำนวนในคดีที่จำเลยเบิกความเท็จคือคดีหมายเลขดำที่ 15/2549 หมายเลขแดงที่ 63/2550 ของศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่า พนักงานอัยการโจทก์ไม่สามารถติดตามตัวนายโจซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าวและเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลได้ พนักงานอัยการโจทก์ในคดีนั้นจึงจำเป็นต้องส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายโจซึ่งจำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามแปล เป็นพยานหลักฐานต่อศาลและจำเป็นต้องส่งบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาทั้งสองกับบันทึกการชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสอง ซึ่งจำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามแปล กับจำเป็นต้องส่งบันทึกการสอบปากคำจำเลยในฐานะผู้ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาให้นายโจฟังเป็นพยานหลักฐานต่อศาลและเพื่อให้พยานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่มีคุณค่าในการรับฟัง โจทก์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำตัวจำเลยผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลมาเบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันว่านายโจผู้เสียหายได้ให้การ ชี้ตัวและชี้ภาพถ่ายยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวจริง แต่จำเลยกลับเบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารทุกฉบับดังกล่าว เป็นว่า จำเลยพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือลงในเอกสารทุกฉบับโดยที่จำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลและมิได้สาบานตัวว่าจะทำหน้าที่เป็นล่ามแปลต่อพนักงานสอบสวน ทั้งเบิกความด้วยว่าจำเลยมิได้ทำหน้าที่เป็นล่ามในการชี้ตัวและชี้ภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองเลย ซึ่งเป็นคำเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาดังที่ได้วินิจฉัยมาในประเด็นก่อน ความเท็จที่จำเลยเบิกความจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะหากศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลย พยานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ล่ามแปลของจำเลย ย่อมเป็นพยานหลักฐานชนิดที่เกิดขึ้นโดยมิชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เลย เพราะต้องห้ามมิให้โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า หากแม้จำเลยจะเบิกความต่อศาลว่า จำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาพม่าในการสอบปากคำนายโจผู้เสียหาย รวมทั้งการทำบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาและบันทึกการดูภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งสองในชั้นสอบสวนจริง ก็ไม่แน่ว่าศาลจะนำคำเบิกความของจำเลยมารับฟังประกอบพยานบอกเล่าเพื่อลงโทษจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะคำเบิกความของจำเลยก็เป็นพยานบอกเล่าเช่นเดียวกัน ดังนั้นคำเบิกความอันเป็นเท็จของจำเลยจึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดีนั้น เห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก บัญญัติแต่เพียงว่า “ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี…” เท่านั้น แสดงว่าเพียงความเท็จที่ผู้กระทำผิดเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์ความจริงได้ก็ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ตามองค์ประกอบความผิดดังกล่าวหาได้ระบุว่าต้องเป็นข้อสำคัญในคดีถึงขนาดที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ได้แต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น คำแก้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี โดยมิได้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลปรานีรอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามแปลคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ก่อนทำหน้าที่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริตใจ จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล เพื่อให้คำแปลถูกต้องตรงต่อความจริง จึงเป็นบุคลากรที่ทำหน้าที่ช่วยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปโดยถูกต้องและเป็นธรรม แต่จำเลยกลับเบิกความเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน ถือเท่ากับว่าจำเลยเป็นผู้ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมเสียเอง จึงสมควรลงโทษจำเลยอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้คนอื่นประพฤติเยี่ยงจำเลยอีก ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุอันควรปรานีที่จะพิจารณารอการลงโทษให้แก่จำเลย คำแก้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ลงโทษและบังคับคดีแก่จำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share