คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12093/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง แต่จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งจะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยระบุในคำให้การว่าโจทก์ฟ้องเกินสิบปี จึงขาดอายุความนั้น ถือได้ว่าอายุความที่จำเลยอ้างคือ อายุความมรดกตามมาตรา 1754 จึงไม่มีประเด็นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตามมาตรา 1733 วรรคสอง แม้จำเลยร่วมให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกก็ตาม แต่จำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ถือไม่ได้ว่าจำเลยยกอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกขึ้นต่อสู้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่ฎีกาข้อนี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8304 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 11.33 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 7329 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 1,785.33 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 7331 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 1,192.66 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 7338 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 1,563.66 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 7339 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 2,010.66 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 18095 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 1,409.25 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 82 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 346.33 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 7154 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 865 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 6131 ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 117.16 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 27173 ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 1,852.66 ตารางวา ให้แก่โจทก์หรือให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแปลงใดแปลงหนึ่งเนื้อที่ 28 ไร่ 24.04 ตารางวา ซึ่งมีมูลค่าเท่ากันหรือใกล้เคียงกันให้แก่โจทก์เพื่อทดแทนกับส่วนที่โจทก์ต้องได้ตามกฎหมาย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางสาวลินดาพร เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8304 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 9.71 ตารางวา โฉนดเลขที่ 7331 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 1,022.28 ตารางวา โฉนดเลขที่ 7338 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 1,563.66 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 7339 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 1,732.42 ตารางวา ราคาประเมินทั้งสิ้น 1,035,154.01 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี สำหรับจำเลยร่วมให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายชวลิต ซึ่งนายชวลิตบิดารับรองว่าเป็นบุตร ส่วนจำเลยร่วมเป็นบุตรของนายชวลิตเช่นกัน แต่ต่างมารดา นายชวลิตเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมุยฮะหรือมุ่ยฮะกับนางเล็กน้อยหรือเล็กไน้มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน คือ นายซิ้วเตียง นายเผชิญ นายชวลิต นางซิ้วเซ็ง นายชัยรัตน์และจำเลย นายหมุยฮะและนางเล็กน้อยถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 10 แปลง คือโฉนดที่ดินเลขที่ 8304, 7329, 7331, 7338, 7339, 18095 และ 7154 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โฉนดที่ดินเลขที่ 6131 และ 27173 ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 82 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายหมุยฮะและนางเล็กน้อย นายชวลิต ถึงแก่ความตายโดยมีสิทธิได้รับมรดกเฉพาะส่วนของนายหมุยฮะ 1 ใน 7 ส่วน ไม่มีสิทธิได้รับมรดกในส่วนของนางเล็กน้อย โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่นายชวลิตเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินมรดกของนายหมุยฮะ 4 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 8304, 7331, 7338 และ 7339 ส่วนที่ดินแปลงอื่นไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายหมุยฮะ ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกแก่บุคคลต่าง ๆ จำเลยร่วมเคยฟ้องจำเลยกับพวกขอแบ่งทรัพย์มรดกตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 676/2548 หมายเลขแดงที่ 826/2550 ของศาลจังหวัดชลบุรี ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายหมุยฮะและนางเล็กน้อยยินยอมโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7329 ให้แก่จำเลยร่วมบางส่วนเนื้อที่ 25 ไร่ และศาลพิพากษาตามยอม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายหมุยฮะและนางเล็กน้อยเจ้ามรดกทั้งสอง โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่นายชวลิตบิดาที่มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองรวม 10 แปลง ให้แก่โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่นายชวลิตเฉพาะที่ดินมรดกของนายหมุยฮะรวม 4 แปลง จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบว่านายชวลิตถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2519 โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปี จึงขาดอายุความ ส่วนจำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายหรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก อย่างไรก็ตามโจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ขาดอายุความ แม้โจทก์ฟ้องให้จำเลยจัดการมรดกของเจ้ามรดก แต่จำเลยจัดการทรัพย์มรดกโดยแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2527 เป็นอย่างน้อย นับแต่วันจัดการแบ่งทรัพย์มรดกในปี 2527 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกิน 5 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง แต่จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งจะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยระบุว่าโจทก์ฟ้องเกินสิบปี จึงขาดอายุความนั้น ถือได้ว่าอายุความที่จำเลยอ้างคือ อายุความมรดกตามมาตรา 1754 จึงไม่มีประเด็นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตามมาตรา 1733 วรรคสองแม้จำเลยร่วมให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกก็ตาม แต่จำเลยและจำเลยร่วมไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ถือไม่ได้ว่าจำเลยยกอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกขึ้นต่อสู้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่ฎีกาในข้อนี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) อย่างไรก็ดี คดีโจทก์ขาดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 หรือไม่ นั้น เห็นว่า โดยเหตุที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายหมุยฮะต้องรับผิดต่อทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 ในลักษณะตัวการตัวแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812, 819 และมาตรา 823 และปรากฏว่าจำเลยมีส่วนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 4 แปลง ที่เป็นทรัพย์มรดกของนายหมุยฮะจึงถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งของนายหมุยฮะและเป็นการครอบครองแทนทายาท แม้นายหมุยฮะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2510 และโจทก์ฟ้องวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 เกินสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายก็ตาม จำเลยจะยกอายุความตามมาตรา 1754 วรรคท้าย ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายชวลิตทายาทของนายหมุยฮะไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 8304, 7331, 7338 และ 7339 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์อยู่ และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายชวลิตในทรัพย์มรดกของนายหมุยฮะ 1 ใน 7 ส่วน โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 8304 มีสิทธิได้รับเนื้อที่ 9.71 ตารางวา โฉนดเลขที่ 7331 มีสิทธิได้รับเนื้อที่ 1,022.28 ตารางวา โฉนดเลขที่ 7338 มีสิทธิได้รับเนื้อที่ 1,563.66 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 7339 มีสิทธิได้รับเนื้อที่ 1,723.42 ตารางวา จำเลยจึงมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับให้แก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share