แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมและจำเลยมีข้อตกลงกันว่า หากลูกค้าต่อรองราคาต่างหูเพชรพิพาทจำเลยจะต้องโทรศัพท์สอบถามโจทก์ร่วมก่อนว่าสามารถขายในราคาดังกล่าวได้หรือไม่ ข้อตกลงนี้มีผลทำให้จำเลยไม่มีอิสระในการกำหนดราคาขายได้จริง นิติกรรมระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการที่โจทก์ร่วมมอบต่างหูเพชรของกลางแก่จำเลยให้ไปขายแทนโจทก์ร่วม ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเรื่องตัวแทน โดยจำเลยเป็นตัวแทนขายต่างหูเพชรของกลางให้แก่ลูกค้าแทนโจทก์ร่วมผู้เป็นตัวการ เมื่อจำเลยครอบครองต่างหูเพชรของกลางของโจทก์ร่วมแล้วนำไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังต่างหูเพชรของกลางของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริตเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางวรพรรณ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ให้จำคุก 2 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร้านสิริพรรณอัญมณี ประกอบธุรกิจจำหน่ายอัญมณีหรือเครื่องประดับ จำเลยประกอบอาชีพช่างเสริมสวยและจำหน่ายอัญมณี โจทก์ร่วมและจำเลยรู้จักกันมานานประมาณ 10 ปี เมื่อเดือนมีนาคม 2551 โจทก์ร่วมให้อัญมณีหลายรายการมูลค่าประมาณ 10,000,000 บาท แก่จำเลยไปจำหน่าย และจำเลยสามารถจำหน่ายอัญมณีดังกล่าวและชำระเงินให้โจทก์ร่วมได้ครบถ้วน ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2551 โจทก์ร่วมมอบต่างหูเพชรของกลางน้ำหนัก 8.09 กะรัต 1 คู่ ราคา 3,300,000 บาท แก่จำเลยเพื่อไปจำหน่าย แต่จำเลยกลับนำไปจำนำเป็นประกันหนี้เงินยืมที่จำเลยยืมเงินนางสาวณัฎฐินี เป็นเงิน 1,600,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ร่วมนำเจ้าพนักงานตำรวจยึดต่างหูเพชรของกลางคืนจากนางสาวณัฎฐินี และแจ้งความดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานยักยอก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานยักยอกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ร่วมมอบต่างหูเพชรของกลางให้จำเลยไปจำหน่าย โจทก์ร่วมทำใบรายการยืมให้จำเลยลงชื่อรับของไว้เป็นหลักฐาน แต่ไม่มีข้อความระบุห้ามมิให้จำเลยนำสินค้าไปจำนำ หรือค้ำประกันหนี้แก่บุคคลภายนอก ไม่มีข้อตกลงว่าเมื่อจำเลยขายสินค้าไม่ได้จะต้องนำสินค้าที่รับไปคืนโจทก์ร่วมภายในกี่วัน และมิได้มีข้อความที่ระบุว่าโจทก์ร่วมแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิกำหนดราคาขายแก่ลูกค้า จำเลยสามารถกำหนดราคาสินค้าได้ด้วยตนเอง เพียงแต่มีหน้าที่ชำระราคาตามที่โจทก์ร่วมกำหนดไว้ในใบยืมเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นนิติกรรมการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในต่างหูเพชรของกลางย่อมโอนมายังจำเลยนับแต่วันที่ 24 เมษายน 2551 แล้ว จำเลยมีสิทธินำต่างหูเพชรของกลางไปวางเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอกนั้น เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและนายประสิทธิ์ สามีโจทก์ร่วมเบิกความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ร่วมและจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการที่จำเลยรับสินค้าของโจทก์ร่วมไปจำหน่ายว่า โจทก์ร่วมจะเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าแต่ละชิ้น หากลูกค้าต่อรองราคาจำเลยจะต้องโทรศัพท์สอบถามโจทก์ร่วมก่อนว่าสามารถขายในราคาดังกล่าวได้หรือไม่ หากจำเลยขายสินค้าได้ โจทก์ร่วมจะคิดค่าตอบแทนให้ร้อยละ 2 ของราคาขาย การชำระราคาสินค้านั้นให้จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ร่วม และหากจำเลยไม่นำเงินของลูกค้าโอนเข้าบัญชีภายในกำหนด โจทก์ร่วมจะติดตามทวงถามให้จำเลยนำสินค้ามาส่งคืน จำเลยรับต่างหูของกลางไปจำหน่าย ตามใบยืมสินค้า ครั้นวันที่ 28 เมษายน 2551 จำเลยโทรศัพท์แจ้งโจทก์ร่วมว่าขายต่างหูเพชรของกลางได้แล้ว แต่ขอลดราคาและขอผัดการชำระราคาต่างหูเพชรของกลางสองเดือนครึ่งเนื่องจากลูกค้ายังไม่พร้อมชำระราคา โจทก์ร่วมยอมลดราคาให้ 50,000 บาท เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่นำเงินค่าต่างหูเพชรของกลางโอนเข้าบัญชี โจทก์ร่วมจึงทวงถามจำเลยจนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2551 จำเลยรับกับโจทก์ร่วมว่าสินค้าทั้งหมดที่ได้รับจากโจทก์ร่วมนั้นจำเลยมิได้นำไปขายแต่นำไปจำนำบ้าง นำไปเป็นประกันเงินกู้บ้าง สำหรับต่างหูเพชรของกลางจำเลยนำไปวางค้ำประกันเงินยืมแก่นางสาวณัฏฐินี และเมื่อได้ตรวจดู ซึ่งเป็นใบยืมสินค้าของกลางแล้ว ปรากฏว่านอกจากใบยืมสินค้าดังกล่าวระบุรายการสินค้าที่จำเลยรับไปว่าเป็นต่างหูเพชรของกลางแล้ว ยังมีการกำหนดราคาต่างหูเพชรไว้เป็นเงิน 3,350,000 บาท มีการขีดฆ่าราคาต่างหูเพชรจากราคา 3,350,000 บาท แล้วเขียนราคาใหม่เป็นเงิน 3,300,000 บาท พร้อมกับระบุวันที่ลดราคาต่างหูของกลางไว้ด้วยว่าเป็นวันที่ 28 เมษายน 2551 ข้อมูลตามใบยืมสินค้าสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า ในวันที่โจทก์ร่วมลดราคาต่างหูเพชรของกลางนั้นจำเลยขายต่างหูเพชรของกลางได้โดยลูกค้าขอลดราคาอีก และจำเลยมิได้นำสืบปฏิเสธว่าไม่เคยติดต่อขอลดราคาต่างหูเพชรจากโจทก์ร่วม ข้อมูลในใบยืมสินค้า ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยมีข้อตกลงกันว่า หากลูกค้าต่อรองราคาต่างหูเพชรพิพาทจำเลยจะต้องโทรศัพท์สอบถามโจทก์ร่วมก่อนว่าสามารถขายภายในราคาดังกล่าวได้หรือไม่ ข้อตกลงนี้มีผลทำให้จำเลยไม่มีอิสระในการกำหนดราคาขายได้จริงดังที่จำเลยฎีกา นิติกรรมระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแต่เป็นการที่โจทก์ร่วมมอบต่างหูเพชรของกลางแก่จำเลยให้ไปขายแทนโจทก์ร่วม ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเรื่องตัวแทนโดยจำเลยเป็นตัวแทนขายต่างหูเพชรของกลางให้แก่ลูกค้าแทนโจทก์ร่วมผู้เป็นตัวการเมื่อจำเลยครอบครองต่างหูเพชรของกลางของโจทก์ร่วมแล้วนำไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่นจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังต่างหูเพชรของกลางของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริตเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 2 ปี นั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่สภาพความผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์