แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายวีระ บิดาของผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 84,522 บาท ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่น ๆ เกี่ยวกับงานศพผู้ตายรวม 49,882 บาท กับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ร่วมอีก 1,674,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,808,404 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) ประกอบมาตรา 157 อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
สำหรับคดีส่วนแพ่ง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในภายหลัง โดยพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าสินไหมทดแทน 138,202 บาท แก่โจทก์ร่วม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำร้อง (วันที่ 27 ตุลาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์คดีส่วนอาญาและส่วนแพ่ง และจำเลยอุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาคดีส่วนอาญาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายวีระ และให้ยกอุทธรณ์ของนายวีระ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับคดีส่วนแพ่งพิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องแต่ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีแพ่งใหม่ให้ถูกต้องภายในกำหนดอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้น (ถ้ามี) ให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมฎีกา ทั้งในคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมสำหรับคดีส่วนอาญาว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ และสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงพิพากษาคดีไปได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติว่า จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้อง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 บัญญัติว่า ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้เสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 223 บัญญัติว่า ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยนั้นจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่รับฟังได้จากคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาโดยเทียบเคียงตามแบบอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2550 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ นายเชื้อ โจทก์ร่วม นายวิสุทธิ์ จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2553 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร โจทก์ นางวินัย โจทก์ร่วม นายอำนาจ จำเลยนั้น เห็นว่า ในคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าวจำเลยให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำผิดด้วยนั้นได้มาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบในคดีส่วนอาญา ส่วนในคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ตามฟ้องเพราะคู่ความมิได้มีการสืบพยาน ซึ่งแตกต่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าว ในคดีนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของนายวีระบิดาของผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เห็นว่าฝ่ายจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมสำหรับคดีส่วนอาญาแล้วเป็นจำนวนถึง 580,000 บาท นับว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายแล้ว ตามสมควรและไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงเห็นสมควรรอการลงโทษแก่จำเลย ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์ร่วมในคดีส่วนแพ่งที่ว่า จำเลยต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตามคำร้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้โดยละเอียดเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ร่วมเป็นค่าปลงศพผู้ตายเป็นเงิน 84,522 บาท ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับงานศพเป็นเงิน 49,882 บาท และกำหนดค่าที่โจทก์ร่วมต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย เป็นเงิน 1,302,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,436,404 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริเวณเหนือจุดเกิดเหตุมีสะพานลอยทางข้ามแต่ผู้ตายกลับข้ามถนนโดยไม่ใช้สะพานลอยทางข้าม ทั้งที่ถนนที่เกิดเหตุเป็นถนนใหญ่มีทางเดินรถทั้งสองฝั่งรวมถึง 6 ช่องทาง มีรถแล่นด้วยความเร็วสูงและเป็นเวลากลางคืน การที่ผู้ตายเสี่ยงภัยเดินข้ามถนนดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ด้วย ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ตายมีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหายในคดีนี้อยู่ด้วยครึ่งหนึ่งนั้น จึงชอบแล้ว และเมื่อนำค่าเสียหายที่ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยครึ่งหนึ่งมาหักออกจากค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับและหักค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมได้รับจากการบรรเทาผลร้ายในคดีส่วนอาญาของฝ่ายจำเลยแล้ว 580,000 บาท คงมีค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ร่วมอีก 138,202 บาท นั้น นับว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดโดยชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ขอให้กำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเต็มจำนวนตามคำร้องนั้นฟังขึ้นเพียงบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาจากโจทก์ร่วมและจำเลยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม” ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาจากโจทก์ร่วมและจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นควรคืนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้โจทก์ร่วมและจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า คดีส่วนอาญาให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายวีระ และที่ให้ยกอุทธรณ์ของนายวีระ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 สำหรับคดีส่วนแพ่งพิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้โจทก์ร่วมและจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ