แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศเยอรมนี ทำสัญญาซื้อสินค้าจากผู้คัดค้านซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย โดยมีข้อตกลงให้ชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนี ต่อมาผู้คัดค้านผิดสัญญาส่งสินค้าให้แก่ผู้ร้องไม่ครบจำนวน ผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการสมาคมการค้าส่งและการค้าระหว่างประเทศแห่งตลาดหลักทรัพย์ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนีมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงิน และนำคำชี้ขาดมาขอบังคับให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ต่อศาลในประเทศไทย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและคำร้องแย้งขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว กรณีนี้แม้มาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จะบัญญัติถึงเหตุในการเพิกถอนคำชี้ขาดไว้เฉพาะตามวรรคสาม (1) (ก) ถึง (จ) โดยไม่ได้บัญญัติชัดเจนถึงอำนาจของศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศหรือที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติในมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด ลักษณะของการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า ในกรณีที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่หากปรากฏว่ามีเหตุหนึ่งเหตุใดเข้าลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 หรือมาตรา 43 แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดหรือมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น แต่เหตุที่มาตรา 40 มิได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศเหมือนดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเพื่อให้มีการใช้อำนาจศาลให้เหมาะสมสอดคล้องกับข้อตกลงหรืออนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศนั้น ๆ ตามหลักการปฏิบัติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลให้เกิดปัญหาการขัดกันของการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศภาคีสมาชิก โดยเฉพาะคำชี้ขาดในคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อสินค้าอันเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศเยอรมนีและประเทศไทยต่างเป็นประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับ นครนิวยอร์ค ค.ศ.1958 ซึ่งมีขอบเขตการใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นแม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการตามมาตรา 9 แต่เมื่อปรากฏว่าข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก การรับคำร้องแย้งของผู้คัดค้านไว้จึงไม่เป็นการสะดวกเพราะจะไม่สอดคล้องกับการอนุวัตรการตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพันต่อประเทศภาคีสมาชิก คำร้องแย้งของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ร้องทำสัญญาซื้อสินค้าประเภทสับปะรดกระป๋องจากผู้คัดค้านซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไทย รวมจำนวน 2 ครั้ง สัญญาฉบับที่ 1 ให้บรรจุสับปะรดกระป๋องในถาดจำนวน 32,400 ถาด จำนวนถาดละ 12 กระป๋อง ราคาถาดละ 6.04 ดอลลาร์สหรัฐ ฉบับที่ 2 ให้บรรจุสับปะรดกระป๋องในกล่องจำนวน 5,200 กล่อง จำนวนกล่องละ 24 กระป๋อง ราคากล่องละ 7.34 ดอลลาร์สหรัฐ และบรรจุในถาดอีก จำนวน 15,600 ถาด จำนวนถาดละ 12 กระป๋อง ราคาถาดละ 3.67 ดอลลาร์สหรัฐ สัญญาทั้งสองฉบับมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการและอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ต่อมาผู้คัดค้านส่งสินค้าให้แก่ผู้ร้องไม่ครบจำนวน โดยจัดส่งสินค้าตามสัญญาฉบับที่ 1 จำนวนเพียง 5,400 ถาด ฉบับที่ 2 จำนวนเพียง 1,300 กล่อง และ 7,800 ถาด ผู้ร้องทวงถามให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ผู้คัดค้านเพิกเฉย ผู้ร้องจึงนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการสมาคมการค้าส่งและการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าประเภทอาหารแห่งตลาดหลักทรัพย์ฮัมบูร์ก (จดทะเบียน) ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 76,008 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี บวกเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานต่อปี แต่ไม่เกินร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2550 แก่ผู้ร้องและให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 4,441.77 ยูโร ซึ่งผู้ร้องได้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนนี้แทนผู้คัดค้านแล้ว ผู้คัดค้านจึงต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมจำนวนดังกล่าวคืนแก่ผู้ร้อง แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 76,008 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง และให้ผู้คัดค้านชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยวิธีอนุญาโตตุลาการจำนวน 4,441.77 ยูโร พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่มีคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและคำร้องแย้งว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้ เพราะผู้ร้องไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และหนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย คำร้องขอของผู้ร้องเคลือบคลุม ผู้คัดค้านไม่เคยตกลงยินยอมหรือลงนามทำสัญญาอนุญาโตตุลาการกับผู้ร้อง สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าผู้คัดค้านลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฉบับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อหลักการรับฟังพยานหลักฐาน เพราะผู้คัดค้านไม่เคยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขาย อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ต่อปี ก็ไม่มีหลักกฎหมายรองรับ ผู้ร้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยวิธีอนุญาโตตุลาการด้วยความสมัครใจและไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้คัดค้านจึงไม่ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมดังกล่าว ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสมาคมการค้าส่งและการค้าระหว่างประเทศสำหรับสินค้าประเภทอาหารแห่งตลาดหลักทรัพย์ฮัมบูร์ก (จดทะเบียน) (Warren – Verein Hamburger Borse E.V.) โดยห้ามมิให้ผู้ร้องนำคำชี้ขาดไปใช้ประโยชน์ใด ๆ นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องแย้งของผู้คัดค้านว่า คำร้องแย้งของผู้คัดค้านที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ตามคำร้องเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ซึ่งศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้ต้องเป็นศาลของประเทศที่ได้ทำคำชี้ขาดและภายใต้กฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้น จึงไม่รับคำร้องแย้งของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ไม่รับคำร้องแย้งของผู้คัดค้านที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ย่อมมีอำนาจในการเพิกถอนคำชี้ขาด มิฉะนั้นเท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจอธิปไตยของศาลไทยในการบังคับใช้กฎหมายและเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาที่ทำขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่มีบทบัญญัติจำกัดอำนาจของศาลไทยในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำในต่างประเทศนั้น เห็นว่า มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยไม่ได้บัญญัติชัดเจนถึงอำนาจของศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในประเทศหรือที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ต่างจากมาตรา 43 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าคำชี้ขาดนั้นจะได้ทำขึ้นในประเทศใด เมื่อพิจารณาถึงเหตุในการเพิกถอนคำชี้ขาดตามมาตรา 40 วรรคสาม (1) (ก) ถึง (จ) ได้แก่ “(ก) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น (ข) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายไทยในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว (ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น (ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ (จ) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ ” กับเหตุในการไม่บังคับตามคำชี้ขาดในมาตรา 43 (1) ถึง (5) ได้แก่ “(1) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น (2) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้หรือตามกฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาดนั้น ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว (3) ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซึ่งจะถูกบังคับตามคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น (4) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ (5) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ ” ก็เป็นเหตุเดียวกัน เพียงแต่เหตุในการบังคับตามคำชี้ขาดตามมาตรา 43 ได้เพิ่มเหตุตามอนุมาตรา (6) ว่า “คำชี้ขาดยังไม่มีผลผูกพันหรือได้ถูกเพิกถอน หรือระงับใช้เสียโดยศาลที่มีเขตอำนาจหรือภายใต้กฎหมายของประเทศที่ทำคำชี้ขาด” ลักษณะของการบัญญัติกฎหมายแสดงว่า ในกรณีที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่หากปรากฏว่ามีเหตุหนึ่งเหตุใดเข้าลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 หรือมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดหรือมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น อย่างไรก็ตามการที่มาตรา 40 มิได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ทำขึ้นในต่างประเทศเหมือนดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เพื่อให้มีการใช้อำนาจศาลให้เหมาะสมสอดคล้องกับข้อตกลงหรืออนุสัญญาที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศนั้น ๆ ตามหลักการปฏิบัติอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลให้เกิดปัญหาการขัดกันของการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศภาคีสมาชิก โดยเฉพาะสำหรับคดีนี้เป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของเมืองฮัมบูร์ก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในข้อพิพาทเกี่ยวกับการซื้อสินค้าประเภทสับปะรดกระป๋อง อันเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศไทยต่างเป็นประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับ นครนิวยอร์ค ค.ศ.1958 ซึ่งมีขอบเขตการใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 แต่เมื่อปรากฏว่าข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฉบับดังกล่าวข้างต้น การรับคำร้องแย้งของผู้คัดค้านไว้จึงไม่เป็นการสะดวกเพราะจะไม่สอดคล้องกับการอนุวัตรการตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพันต่อประเทศภาคีสมาชิก คำร้องแย้งของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับคำร้องแย้งของผู้คัดค้านนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามคำร้องแย้ง จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลตามคำร้องแย้งทั้งหมดแก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ