คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11732/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญาว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องเป็นไปตามคำบรรยายฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด บทกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และบทกฎหมายที่โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งตามมาตรา 348 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจฎีกาว่าทรัพย์ที่สูญเสียไปจากการกระทำความผิดเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความ เพื่อให้ผิดแผกไปจากฟ้องได้ โจทก์ร่วมเป็นเพียงกรรมการตรวจรับงานจ้างของเทศบาลนครลำปางผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ผู้แทนของนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนผู้เสียหายที่ 1 การที่นายกเทศมนตรีนครลำปางผู้แทนนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 ไม่แจ้งความร้องทุกข์เพราะมีส่วนร่วมกระทำผิดกับจำเลยทั้งสองนั้น มิใช่เหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อยกเว้นบทบัญญัติในเรื่องผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้หากการไม่ร้องทุกข์ของนายกเทศมนตรีนครลำปางก่อให้เกิดความเสียหาย หรือผู้แทนนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างใด ก็ชอบที่จะดำเนินคดีจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคลเป็นอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อนายกเทศมนตรีนครลำปางผู้แทนผู้เสียหายที่ 1 มิได้ร้องทุกข์ดังนี้ ก็ต้องถือว่าไม่มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายและต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 326, 341 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 10,000,000 บาท ที่ฉ้อโกงไปแก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 เป็นโจทก์ร่วมเฉพาะในความผิดฐานหมิ่นประมาท และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์ความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานหมิ่นประมาทออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 24 กันยายน 2555 ว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายนิมิตร นายกเทศมนตรีนครลำปาง แถลงว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสอง โจทก์แถลงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับงานจ้างตามสัญญาที่เป็นเหตุให้มีการกระทำความผิดเป็นผู้ร้องทุกข์คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องเป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งอยู่ในครอบครองของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงไม่เป็นความผิดต่อส่วนตัวที่จะต้องมีการร้องทุกข์นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญาว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามคำบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด มาตราในกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและโจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองโดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งตามมาตรา 348 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจยกเหตุที่ทรัพย์สินที่สูญเสียไปจากการกระทำความผิดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินขึ้นบังคับให้ผิดแผกไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปว่า คดีมีการร้องทุกข์โดยชอบและโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่นายกเทศมนตรีนครลำปางซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลไม่ร้องทุกข์เพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอันถือได้ว่ามีประโยชน์ได้เสียขัดแย้งกับนิติบุคคล และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับงานจ้างและพบการกระทำความผิดจึงจำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดีจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นร้องทุกข์โดยชอบแล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ (1) ร้องทุกข์…” และมาตรา 5 บัญญัติว่า “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้… (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น” จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติถึงผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่เป็นนิติบุคคลไว้โดยเฉพาะว่าต้องเป็นผู้แทนนิติบุคคลนั้น การที่โจทก์รับว่านายกเทศมนตรีนครลำปางผู้แทนผู้เสียหายที่ 1 มิได้ร้องทุกข์คดีนี้ จึงต้องถือว่าไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง มีผลให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายและต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ส่วนที่โจทก์ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างว่านายกเทศมนตรีนครลำปางซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลไม่ร้องทุกข์เพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลยทั้งสอง โจทก์ร่วมจึงจำเป็นต้องร้องทุกข์นั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้แทนของผู้เสียหายที่ 1 และเมื่อมีกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะดังกล่าวแล้ว หากการไม่ร้องทุกข์ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือนายกเทศมนตรีมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างใด ก็ชอบที่จะมีการดำเนินคดีจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก และมิใช่ข้อที่จะใช้เป็นเหตุยกเว้นบทบัญญัติที่ว่าด้วยผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่ 1 ตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายตามที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นรับฟังคำแถลงจากบุคคลอื่นที่มิใช่คู่ความในคดีแล้วเชื่อว่าไม่มีการร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง กับมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ เป็นการชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้วหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 24 กันยายน 2555 ฉบับเวลา 14.30 นาฬิกาว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นได้สอบถามนายนิมิตร ที่แสดงตัวเป็นนายกเทศมนตรีนครลำปางผู้เสียหายที่ 1 ได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้ โจทก์แถลงว่าแม้ผู้เสียหายที่ 1 มิได้ร้องทุกข์ แต่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับงานจ้างเป็นผู้ร้องทุกข์ โดยไม่มีข้อโต้แย้งว่านายนิมิตรมิได้เป็นผู้แทนผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อรับฟังได้ว่านายนิมิตรเป็นนายกเทศมนตรีนครลำปาง จึงต้องถือว่าเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่ 1 และเป็นผู้เกี่ยวข้องในคดี การที่ศาลชั้นต้นรับฟังคำแถลงอันเป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นและเห็นว่าเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้จึงให้งดสืบพยานโจทก์ และวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share