คำวินิจฉัยที่ 119/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง ขอให้รื้อถอนถนนที่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี กับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้ก่อสร้างถนนรุกล้ำ แต่ก่อสร้างบนที่ดินสาธารณะ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณะเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๙/๒๕๕๗

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองสงขลา
ระหว่าง
ศาลแขวงสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองสงขลาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ นางประดับ รัตนพันธ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลทุ่งลาน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๐/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๖๗๑ ตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดดีชัยคอนสตรัคชั่น ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ซอยชลประทานบ้านนายโสภณ ณรงค์กูล แต่ก่อนทำการก่อสร้างถนน ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้รังวัดสอบเขตที่ดินข้างเคียง ทั้งในการปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างถนนทำให้หลักหมุดซึ่งเป็นหลักเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีเกิดการสูญหาย จนเป็นเหตุให้มีการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีไม่เคยรับรู้หรือให้ความยินยอมในการก่อสร้างถนนดังกล่าว เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเรื่องขอสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๖๗๑ผลการรังวัดปรากฏว่า การก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กของผู้ถูกฟ้องคดีรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ ๒๒.๒ ตารางวา อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษา หรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนถนนคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท หากผู้ถูกฟ้องคดีไม่รื้อถอนตามคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้ก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ก่อสร้างบนที่ดินสาธารณะ ซึ่งก่อนหรือขณะทำการก่อสร้างถนนคอนกรีต ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีได้ร่วมระวังแนวเขตที่ดิน ผู้ฟ้องคดีได้ทราบถึงการก่อสร้างถนนคอนกรีตแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายและการดำเนินการทางปกครองในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้ว่าคดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ ก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี จึงเป็นประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะนำไปสู่การพิจารณาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และแม้ประเด็นปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์นั้น จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกในเขตเทศบาลเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ได้ก่อสร้างในทางสาธารณะไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่ก่อสร้างถนนคอนกรีตดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณะ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณะเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด เนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ตารางวา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยไม่ได้รังวัดสอบเขตที่ดินข้างเคียง ทั้งในการปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างถนนทำให้หลักหมุดซึ่งเป็นหลักเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีเกิดการสูญหายจนเป็นเหตุให้มีการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีไม่เคยรับรู้หรือให้ความยินยอม ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเรื่องขอสอบเขตที่ดิน ผลการรังวัดปรากฏว่า การก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กของผู้ถูกฟ้องคดีรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ ๒๒.๒ ตารางวา อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนที่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หากผู้ถูกฟ้องคดีไม่รื้อถอน ตามคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้ก่อสร้าง ถนนคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ก่อสร้างบนที่ดินสาธารณะ ซึ่งก่อนหรือขณะทำการก่อสร้างถนนคอนกรีต ผู้แทนของผู้ฟ้องคดีได้ร่วมระวังแนวเขตที่ดินและทราบถึงการก่อสร้างถนนคอนกรีตแล้ว เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณะเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางประดับ รัตนพันธ์ ผู้ฟ้องคดี เทศบาลตำบลทุ่งลาน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share