คำวินิจฉัยที่ 114/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดคนเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดได้ยื่นคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดำเนินการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ คัดค้านการรังวัดว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์”ที่เลี้ยงสัตว์ปากน้ำปราณ”ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกเรื่องการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ให้เพิกถอนหนังสือคัดค้านการขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ออกเอกสารสิทธิให้ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดคน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่าบริเวณดังกล่าว เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินในที่สาธารณประโยชน์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นการปฏิบัติโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งแปดสิบเอ็ดที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งแปดสิบเอ็ดกล่าวอ้างเป็นสำคัญ ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดมีสิทธิในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ (ที่เลี้ยงสัตว์ปากน้ำปราณ) เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๔/๒๕๕๗

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดหัวหิน

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้ง เขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๕ นายเสทื้อน เดชวัน ที่ ๑ กับพวกรวม ๘๑ คน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ ๑ นายอำเภอปราณบุรี ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาปราณบุรี ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๗๕/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดคน เป็นตัวแทนชาวบ้านชุมชนปรือน้อย หมู่บ้านปรือน้อย หมู่ที่ ๓ ตำบลปากน้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยประชาชนประมาณ ๒๐๐ ครัวเรือน อยู่ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๑๓๘ ไร่ เป็นชุมชนท้องถิ่นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา เหตุพิพาทในคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ดำเนินคดีกับผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด และชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านปรือน้อยในข้อหาบุกรุกที่ดิน จนเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙ นายมนัส ธรรมเนียม และผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามคำร้องที่ ๒๑๕/๒๕๔๙ เรื่องสิทธิในที่ดิน กรณีคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของราษฎรที่ตั้งอยู่ที่บ้านปรือน้อย หมู่ที่ ๓ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๒ ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการขอยกเลิกการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้สำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาปราณบุรี ดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้แก่ชาวบ้านภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงาน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามกลับมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการทางกฎหมายกับชาวบ้านและผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวงให้แล้วเสร็จ ต่อมาประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดได้ยื่นคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดำเนินการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด เจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ดำเนินการนัดรังวัดเพื่อเตรียมการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดและบุคคลอื่น ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มอบหมายให้ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ บ้านปรือน้อย คัดค้านการขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดและบุคคลอื่นโดยระบุเหตุผลในการคัดค้านว่า ที่ดินแปลงที่ทำการรังวัดออกโฉนดตั้งอยู่ในเขตที่สาธารณประโยชน์ “บริเวณที่เลี้ยงสัตว์ปากน้ำปราณ” ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด เห็นว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในการคัดค้านการขอออกเอกสารสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ไม่เพิกถอนการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด และชาวบ้านภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกเรื่องการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงบริเวณบ้านปรือน้อย ให้เพิกถอนหนังสือคัดค้านการขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ ๒๕๔/๒๕๕๒ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ตำแหน่งที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกับพวกขอออกโฉนดที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ รูปแผนที่แสดงขอบเขตและเขียนว่าหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง “ที่สงวนเลี้ยงสัตว์ปากน้ำปราณ” เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒และที่ ๓ ยื่นหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินในที่สาธารณประโยชน์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นการปฏิบัติโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแล และคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินที่ชาวบ้านร้องคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นที่สาธารณประโยชน์ (ที่เลี้ยงสัตว์ปากน้ำปราณ) เมื่อมีราษฎรยื่นขอรังวัดและออกโฉนดที่ดินในพื้นที่บ้านปรือน้อยหมู่ที่ ๓ โดยราษฎรผู้ยื่นไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงต้องคัดค้านแนวเขต และการปักหลักเขตที่ดิน การสั่งการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นเพียงคำแนะนำในการแก้ปัญหามิใช่กฎหมายที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องปฏิบัติตาม ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษา และคุ้มครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า ที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดขอออกโฉนดเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกโฉนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการแสดงเขตที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และการคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์รวมถึงการระวังชี้แนวเขต และคัดค้านการรังวัดเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด อ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดในการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดหัวหินพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินอ้างว่ามีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านว่าที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดนำรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์ “ที่เลี้ยงสัตว์ปากน้ำปราณ” เป็นการโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิในที่ดิน แม้การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และการคัดค้านการรังวัดการออกโฉนดที่ดิน โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์รวมถึงการระวังชี้แนวเขต และคัดค้านการรังวัดเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปเป็นสำคัญ คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดคนเป็นตัวแทนชาวบ้านชุมชนปรือน้อย อยู่ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๑๓๘ ไร่ อันเป็นชุมชนท้องถิ่นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดได้ยื่นคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดำเนินการรังวัด เพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๓ คัดค้านการรังวัด ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกเรื่องการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงบริเวณบ้านปรือน้อย ให้เพิกถอนหนังสือคัดค้านการขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินในที่สาธารณประโยชน์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นการปฏิบัติโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งรวมถึงปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดคนกล่าวอ้างเป็นสำคัญ ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ดได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งแปดสิบเอ็ด มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ (ที่เลี้ยงสัตว์ปากน้ำปราณ) เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเสทื้อน เดชวัน ที่ ๑ กับพวกรวม ๘๑ คน ผู้ฟ้องคดี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ ๑ นายอำเภอปราณบุรี ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ ที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาปราณบุรี ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

ลาประชุม (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share