คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21294/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องและผู้บริหารของผู้ร้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส – เบนซ์ เป็นอย่างดี ก่อนที่ผู้ร้องลงนามทำสัญญาการจัดจำหน่ายกับผู้คัดค้านนั้น ผู้ร้องมีโอกาสพิจารณาข้อสัญญาต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและย่อมรู้ว่ามีข้อสัญญาใดบ้างที่เอารัดเอาเปรียบผู้ร้องหรือทำให้ผู้ร้องต้องรับภาระเกินกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ทั้งย่อมตระหนักถึงความเสี่ยงทางธุรกิจอันเนื่องมาจากการถูกบอกเลิกสัญญา รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาการจัดจำหน่าย จึงได้มีการลงนามทำสัญญากับผู้คัดค้าน และเมื่อพิจารณามาตรา 4 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง” แต่กรณีของผู้ร้องไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับผู้คัดค้านแต่อย่างใด สัญญาข้อ 14 (1) ก็ให้สิทธิแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 386 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ที่บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง” ถือได้ว่าผู้ร้องมีเสรีภาพและสมัครใจเข้าทำสัญญากับผู้คัดค้านบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ข้อสัญญาข้อ 14 (1) ในสัญญาการจัดจำหน่ายไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้ผู้ร้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบผู้ร้อง จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าขาดกำไรอันเนื่องมาจากการที่ผู้คัดค้านไม่ทำการมอบรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องจำนวน 9 คัน เป็นเงินจำนวน 1,835,975 บาท เงินโบนัสให้แก่ผู้ร้องจากการขายอะไหล่ได้ตามสัดส่วนคิดเป็นเงินจำนวน 926,250 บาท ค่าอะไหล่คืนแก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 48,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับจำนวนเงินและค่าเสียหายที่คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดให้ผู้คัดค้านรับผิดชดใช้แก่ผู้ร้องนับแต่วันที่มีคำชี้ขาดจนกว่าจะมีการชำระเงินและค่าเสียหายดังกล่าวทั้งหมดครบถ้วนแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยาน ผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่ค้าน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายจำนวน 27,799.05 บาท แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เมื่อปี 2543 ผู้คัดค้านแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส – เบนซ์ ของผู้คัดค้าน ต่อมาผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาจัดจำหน่ายฉบับใหม่ลงวันที่ 1 มีนาคม 2546 โดยข้อที่ 14 (1) ของสัญญาระบุว่า สัญญามีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 มีผลบังคับเป็นเวลาเวลา 12 เดือน นับจากวันมีผลบังคับ หากผู้คัดค้านหรือผู้ร้องไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระยะเวลาล่วงหน้า 90 วัน ก่อนวันสิ้นอายุสัญญา ให้ถือว่าสัญญานี้มีผลใช้บังคับต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา แต่ผู้คัดค้านหรือผู้ร้องมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญา ณ เวลาใด ๆ ก็ได้โดยมีหนังสือบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรแก่อีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าเป็นเวลา 90 วัน ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2548 ผู้คัดค้านบอกเลิกสัญญากับผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านแล้วตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ วันที่ 29 ตุลาคม 2551 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการบางข้อและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องและผู้บริหารของผู้ร้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นอย่างดี ก่อนที่ผู้ร้องจะลงนามทำสัญญาการจัดจำหน่ายกับผู้คัดค้านนั้น ผู้ร้องมีโอกาสพิจารณาข้อสัญญาต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนและย่อมรู้ว่ามีข้อสัญญาใดบ้างที่เอารัดเอาเปรียบผู้ร้องหรือทำให้ผู้ร้องต้องรับภาระเกินกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ทั้งย่อมตระหนักถึงความเสี่ยงทางธุรกิจอันเนื่องมาจากการถูกบอกเลิกสัญญา รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาการจัดจำหน่าย จึงได้มีการลงนามทำสัญญากับผู้คัดค้าน และเมื่อพิจารณามาตรา 4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง” แต่กรณีของผู้ร้องไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับผู้คัดค้านแต่อย่างใด สัญญาข้อ 14 (1) ก็ให้สิทธิแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 386 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง” ถือได้ว่าผู้ร้องมีเสรีภาพและสมัครใจเข้าทำสัญญากับผู้คัดค้านบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ทั้งการบอกเลิกสัญญาของผู้คัดค้านเป็นการใช้สิทธิที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของสัญญาข้อ 14 (1) และมาตรา 386 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว โดยไม่จำต้องมีเหตุอันสมควรตามสัญญาข้อ 14 (2) ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ข้อสัญญาข้อ 14 (1) ในสัญญาการจัดจำหน่ายไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้ผู้ร้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติหรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบผู้ร้อง จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีส่วนใดขัดต่อบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ส่วนอุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ผู้ร้องไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ว่าไม่ตรงอย่างไร ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share