คำวินิจฉัยที่ 17/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ จนถึงปัจจุบัน ต่อมา โจทก์ได้ตรวจสอบเอกสารสิทธิเพื่อขอออกโฉนด พบว่าเจ้าพนักงานที่ดินระบุว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านผู้ปกครองท้องที่ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งให้จำเลยคืนที่ดินแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเพิกถอนที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนากับให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๗/๒๕๕๗

วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายเชื่อง ทองพูล โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๘๓/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) เลขที่ ๔๖๔ หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าช้าง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ จนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อปลายเดือนเมษายน ๒๕๕๕ โจทก์ได้ตรวจสอบเอกสารสิทธิเพื่อขอออกโฉนด พบว่าเจ้าพนักงานที่ดินระบุว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณะประโยชน์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านผู้ปกครองท้องที่ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งให้จำเลยคืนที่ดินแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเพิกถอนที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนากับขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครอง
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทได้มีการทอดทิ้งไม่มีผู้ใดเข้าครอบครองทำประโยชน์ เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๐ เจ้าพนักงานที่ดินของจำเลยได้ทำการเดินสำรวจ เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นได้แจ้งกับจำเลยว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ในการทิ้งเศษแร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า จากคำฟ้องโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) เท่ากับโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดิน แม้โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินระบุในแผนที่ว่าที่ดินเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่การจะพิสูจน์เรื่องดังกล่าว มิใช่พิจารณาจากรูปแบบ ขั้นตอนวิธีการ การออกกฎ อันเป็นสาระสำคัญในการออกแผนที่พิพาทของเจ้าพนักงานที่ดิน เพียงแต่พิสูจน์ สิทธิครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์อันเป็นข้อเท็จจริงในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่สาธารณะประโยชน์หรือไม่เท่านั้น ซึ่งต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิครอบครองรวมถึงการทำประโยชน์ จึงเป็นเรื่องของการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ประเด็นในคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินที่มาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเป็นหลัก ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) เลขที่ ๔๖๔ การที่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่า ผู้ใหญ่บ้านผู้ปกครองท้องที่ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์โดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของจำเลย ดังนั้นข้อพิพาทคดีนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) โดยโจทก์ได้ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ จนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อปลายเดือนเมษายน ๒๕๕๕ โจทก์ได้ตรวจสอบเอกสารสิทธิเพื่อขอออกโฉนด พบว่าเจ้าพนักงานที่ดินระบุว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าผู้ใหญ่บ้านผู้ปกครองท้องที่ได้ยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์แจ้งให้จำเลยคืนที่ดินแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเพิกถอนที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนากับให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเชื่อง ทองพูล โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share