คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสองต่างเบิกความในคดีหมายเลขแดงที่ 4304/2548 ของศาลแพ่งธนบุรี เป็นการเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดี แม้จำเลยทั้งสองต่างเบิกความเป็นพยาน แต่พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกให้โจทก์ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วร่วมกันนำไปกรอกข้อความเท็จและนำมาฟ้องโจทก์ เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองเบิกความเท็จโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อสนับสนุนคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชนะโจทก์ในคดีดังกล่าว มีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กัน จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด
จำเลยที่ 2 เบิกความ 2 ครั้งต่างวันกันก็โดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชนะโจทก์ในคดีก่อน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตาย นางสาวชาลินี บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นพี่ภริยาของจำเลยที่ 2 ก่อนเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 2 รู้จักและทำงานอยู่ด้วยกันที่กรมขนส่งทหารอากาศ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1574 ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ประมาณ 23 ไร่ แต่ถูกกรมทางหลวงเวนคืนที่ดินไป 13 ไร่เศษ เพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนบ้านคลองเปรม – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 (บางบัวทอง) โดยโจทก์ได้ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน จึงเหลือที่ดินเนื้อที่ 10 ไร่ 23 ตารางวา โจทก์ประสงค์จะขายที่ดินที่เหลือโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นนายหน้า ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2545 โจทก์พบกับจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 อยู่ด้วย โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้จะขายในหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ และเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้โอนที่ดินแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญา และชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เป็นคดีหมายเลขดำที่ 127/2547 หมายเลขแดงที่ 4304/2548 ของศาลแพ่งธนบุรี ตามสำเนาหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องพร้อมสำเนาสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำและสำเนาโฉนดที่ดิน โจทก์ให้การต่อสู้คดี ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเบิกความในการพิจารณาคดีดังกล่าวทำนองว่า โจทก์ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1574 ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 10 ไร่ 23 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 15,000,000 บาท ตกลงชำระเงินมัดจำ 10,000,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระภายใน 4 ปี ในวันโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ และโจทก์ได้รับเงินมัดจำจำนวนดังกล่าวโดยลงลายมือชื่อรับเงินมัดจำในสำเนาโฉนดที่ดิน และจำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านว่า โจทก์ไม่ได้เสนอขายที่ดินในราคา 80,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ไม่เคยพูดให้โจทก์ฟังว่ามีนักการเมืองสนใจที่ดินแปลงดังกล่าวตามสำเนาคำให้การ กองพิสูจน์หลักฐานและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำและในสำเนาโฉนดที่ดินแล้วปรากฏว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์ ตามสำเนารายงานการตรวจพิสูจน์ ผลคดีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องตามสำเนาคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามสำเนาคำพิพากษาแนบท้ายคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า คำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นความเท็จ ความจริงแล้วเดิมที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนบางส่วน โจทก์จึงมอบให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการรังวัดเพื่อตรวจสอบเขตที่ดินจนทราบว่าที่ดินของโจทก์เหลือเนื้อที่ 10 ไร่ 23 ตารางวา จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่ามีนักการเมืองสนใจต้องการซื้อที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงเสนอขายในราคา 80,000,000 บาท ให้ค่านายหน้าแก่จำเลยที่ 2 ร้อยละ 3 วันที่ 26 กันยายน 2547 จำเลยที่ 2 พาโจทก์ไปพบจำเลยที่ 1 ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายหน้าของนักการเมือง จำเลยที่ 2 ขอสำเนาโฉนดที่ดินจากโจทก์เพื่อแสดงต่อนักการเมือง และนำแบบพิมพ์เหมือนกับสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ จำนวน 2 ฉบับ มากรอกข้อความตามความประสงค์ของโจทก์ว่าประสงค์ขายที่ดิน 80,000,000 บาท ให้ค่านายหน้าร้อยละ 3 ราคาส่วนที่เกินยกให้นายหน้าด้วย สัญญาสิ้นสุดภายในปี 2545 จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้จะขาย ส่วนช่องผู้เขียนและพยานมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ จากนั้นจำเลยที่ 2 บอกว่าสัญญาฉบับหนึ่งมีรอยขีดฆ่า สกปรก จึงฉีกทิ้ง โจทก์ให้ทำฉบับใหม่เพื่อจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่จำเลยที่ 2 ทำช้า จึงให้โจทก์ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความโดยอ้างว่าจะกรอกข้อความให้ตรงกับฉบับที่ฉีกทิ้งและจะนำไปให้โจทก์ที่ที่ทำงาน วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 มอบสัญญาให้แก่โจทก์ซึ่งมีข้อความตรงตามความประสงค์ของโจทก์ แต่ภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาโจทก์ได้ฉีกสัญญาดังกล่าวทิ้ง เห็นว่า ได้ความจากหนังสือแขวงการทางปทุมธานี กรมทางหลวง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2542 แผ่นที่ 2 ว่าที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืน 13 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา กำหนดค่าทดแทนที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา ตารางวาละ 20,000 บาท เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา ตารางวาละ 10,000 บาท และเนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวา ตารางวาละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 40,820,000 บาท เมื่อพิจารณาประกอบสำเนาราคาประเมินที่ดิน ซึ่งประเมินราคาที่ดินตามระยะใกล้ไกลจากถนนแล้ว เชื่อว่าค่าทดแทนดังกล่าวกำหนดตามพื้นที่ดินที่อยู่ใกล้หรือไกลจากถนน ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ดังนั้น ภายหลังการเวนคืน ที่ดินของโจทก์จึงอยู่ติดถนนที่สร้างขึ้นใหม่ ย่อมทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นจากราคาค่าทดแทน แต่อย่างไรก็ดีที่ดินของโจทก์ที่เหลือเนื้อที่ 10 ไร่ 23 ตารางวา ซึ่งหากคำนวณราคาตามอัตราค่าทดแทนดังกล่าวแล้ว ที่ดินของโจทก์น่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 33,000,000 บาท ผิดปกติวิสัยที่โจทก์จะตกลงขายที่ดินในราคาเพียง 15,000,000 บาท โจทก์ก็มีเงินลงทุนอยู่ในกองทุนรวมหุ้นบุริมสิทธิ – หุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารดังกล่าว จำนวน 10,000,000 บาท โดยปรากฏจากสำเนาสมุดเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และสำเนาหนังสือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ว่าโจทก์ได้รับเงินปันผลทุก 3 เดือน มาหลายครั้ง และจะได้รับต้นเงินและเงินปันผลงวดสุดท้ายในวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ปกติเงินลงทุนดังกล่าวจะมีอายุไถ่ถอนเป็นปี โจทก์จึงได้เงินปันผลเป็นระยะทุก 3 เดือน มาก่อนแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่โจทก์ต้องขายที่ดินในราคาต่ำเช่นนั้น จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ขายที่ดินเพื่อนำเงินไปซื้อพระเครื่อง แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์ซื้อพระเครื่องอะไร จำนวนเท่าใด ราคาเท่าใด จากผู้ใด จำเลยที่ 1 ก็อยู่ในวงการพระเครื่องซึ่งไม่ยากที่จะนำพยานมาสืบ แต่กลับไม่นำสืบ จึงไม่น่ารับฟัง ส่วนเงินมัดจำนั้น ได้ความจากสำเนาโฉนดที่ดินว่ามีการลงลายมือชื่อรับเงินมัดจำ 10,000,000 บาท ในสำเนาโฉนดที่ดินทุกแผ่นรวม 6 แผ่น ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของโจทก์ แต่ในสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำมีข้อความว่าผู้จะขายซึ่งหมายถึงโจทก์ได้รับเงินมัดจำ 10,000,000 บาท อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะต้องลงลายมือชื่อรับเงินมัดจำในสำเนาโฉนดที่ดินทุกแผ่นรวม 6 แผ่นอีก ประกอบกับโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เขียนข้อความการรับเงินมัดจำในสำเนาโฉนดที่ดิน ส่อแสดงว่าโจทก์เพียงลงลายมือชื่อรับรองสำเนาโฉนดที่ดินเพื่อมอบให้จำเลยที่ 2 นำไปแสดงแก่นักการเมืองซึ่งต้องการซื้อที่ดินเท่านั้น จากภาพถ่ายบ้านของจำเลยที่ 1 เป็นบ้านชั้นเดียว สภาพเก่า รั้วสังกะสี หลังคากระเบื้องปนสังกะสี อยู่ในสวน มีทางเข้าเป็นทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร สภาพบ้านดังกล่าวแสดงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่น่าจะมีเงินถึง 10,000,000 บาท มาวางมัดจำได้ ที่จำเลยทั้งสองนำสืบในข้อนี้โดยจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า เดิมจำเลยที่ 1 มีอาชีพเป็นช่างทอง แล้วเปลี่ยนเป็นให้เช่าพระเครื่อง สมัยก่อนจำเลยที่ 1 ยังเปิดบ่อนการพนัน จำเลยที่ 1 มีเงินเก็บสะสมจากการประกอบอาชีพดังกล่าวโดยเก็บไว้ที่ตู้ข้างเตียงที่บ้านเป็นเงินสด 14,000,000 บาทเศษ เงินมัดจำ เป็นเงินที่เก็บไว้ที่ตู้ข้างเตียง เมื่อถึงกำหนดโอนที่ดินจำเลยที่ 1 เตรียมเงินสด 3,000,000 บาท และแคชเชียร์เช็ค 2,000,000 บาท ไปคอยโจทก์ที่สำนักงานที่ดิน แต่โจทก์ไม่มา จึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน เห็นว่า อาชีพของจำเลยที่ 1 มีรายได้ไม่แน่นอน จำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีที่ดินเป็นของตนเอง อาศัยอยู่รวมกับมารดาและบุตรสาวโดยเช่าที่ดินผู้อื่นปลูกสร้างบ้าน ปัจจุบันหมดสัญญาเช่าแล้ว จึงไม่ได้อยู่อาศัยที่บ้านดังกล่าว และไม่มีรถยนต์ใช้เนื่องจากขายไปแล้ว ดังนั้น อาชีพและสภาพความเป็นอยู่ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวผิดวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะมีเงินสดเก็บไว้ที่บ้านถึง 14,000,000 บาท ส่วนที่สำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุว่าจำเลยที่ 1 เตรียมเงินสดและแคชเชียร์เช็คมา ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจสอบว่าจำเลยที่ 1 เตรียมเงินสด 3,000,000 บาท มาจริงหรือไม่ ส่วนเงินตามแคชเชียร์เช็ค จำเลยที่ 1 ก็ได้รับกลับคืนไป โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีบัญชีเงินฝาก จึงต้องเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อนำแคชเชียร์เช็คเข้าบัญชีแล้วรับเงินกลับคืนไป โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเงินยังคงอยู่ที่จำเลยที่ 1 ข้อนำสืบต่อสู้ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองไม่น่ารับฟัง เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 รู้จักโจทก์มา 20 ปี เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ตามลำดับยศ คอยช่วยเหลือดูแลโจทก์เกี่ยวกับการรังวัดที่ดินของโจทก์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์ผู้ให้เช่ากับนายประเสริฐ ผู้เช่า ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าแสดงว่าโจทก์มีความไว้วางใจและเชื่อใจจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้เตรียมสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำมา ส่วนจำเลยที่ 1 มีความใกล้ชิดจำเลยที่ 2 โดยเป็นพี่ภริยาของจำเลยที่ 2 พฤติการณ์เป็นการสะดวกที่จำเลยทั้งสองจะร่วมกันหลอกให้โจทก์ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วร่วมกันนำไปกรอกข้อความและนำมาฟ้องโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์สอดคล้องต้องด้วยเหตุผล มีน้ำหนักมั่นคง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ประสงค์จะขายที่ดินในราคา 80,000,000 บาท ไม่ได้ตกลงขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 15,000,000 บาท และไม่ได้รับเงินมัดจำ 10,000,000 บาท จากจำเลยที่ 1 การที่จำเลยทั้งสองต่างเบิกความในคดีหมายเลขแดงที่ 4304/2548 ของศาลแพ่งธนบุรี สนับสนุนคำฟ้องในคดีดังกล่าวว่าโจทก์ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1574 ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 10 ไร่ 23 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 15,000,000 บาท ได้รับชำระเงินมัดจำ 10,000,000 บาท และโจทก์ไม่ได้ประสงค์จะขายที่ดินในราคา 80,000,000 บาท อันเป็นข้อสำคัญในคดีเพราะโจทก์อาจถูกบังคับให้โอนที่ดินและชดใช้ค่าเสียหายได้ จึงเป็นการเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดี พยานหลักฐานจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้สมคบกันนั้น เห็นว่า แม้จำเลยทั้งสองจะต่างเบิกความเป็นพยาน แต่พฤติการณ์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกให้โจทก์ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาจะซื้อขายที่ดินหรือสัญญาวางมัดจำที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วร่วมกันนำไปกรอกข้อความเท็จและนำมาฟ้องโจทก์ เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองเบิกความเท็จโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อสนับสนุนคำฟ้องของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชนะโจทก์ในคดีดังกล่าว มีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กัน จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันเบิกความเท็จมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหลายกรรมนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เบิกความโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชนะโจทก์ในคดีก่อน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกัน แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share