คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1223/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 63 (กฎหมายเดิม) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) บัญญัติให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชน อันมีลักษณะเป็นการใช้กระบวนยุติธรรมเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนยุติธรรมได้ ซึ่งตามมาตรา 63 (กฎหมายเดิม) ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล แต่ตามมาตรา 86 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับแผน ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่มีสิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยกับแผน พนักงานอัยการยังไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องจะต้องให้ศาลพิจารณาก่อนตามมาตรา 86 ถ้าศาลเห็นชอบกับแผนและมีการปฏิบัติตามแผนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 88 (กฎหมายที่แก้ไขใหม่) โดยมาตรา 86 ใช้ถ้อยคำว่า “ให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร” ดังนี้บ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวว่า ให้ศาลตรวจสอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอีกชั้นหนึ่งก่อนและให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น ผู้คัดค้านหรือพนักงานอัยการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบการจับและมีคำสั่งตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ศาลชั้นต้นตรวจสอบแล้วมีคำสั่งว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดจริง การจับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปฏิบัติของเจ้าพนักงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาจึงมีคำสั่งให้มอบตัวผู้ต้องหาแก่นายจงกล บิดาของผู้ต้องหา และให้ผู้คัดค้านดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 82
ต่อมาผู้คัดค้านรายงานให้ศาลชั้นต้นทราบว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดชลบุรีได้ประมวลข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้องโดยพนักงานอัยการเห็นชอบ และให้มีการดำเนินการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 พร้อมทั้งส่งแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน ซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจให้ความยินยอมได้ และไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้ จึงไม่อนุญาต
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 86 หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กหรือเยาวชน อันมีลักษณะเป็นการใช้กระบวนยุติธรรมเบี่ยงเบนคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมซึ่งตามมาตรา 63 (กฎหมายเดิมก่อนถูกยกเลิก) ให้อำนาจเด็ดขาดแก่พนักงานอัยการที่จะสั่งไม่ฟ้องโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล แต่ตามมาตรา 86 (กฎหมายใหม่) ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับแผนหรือไม่ ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับแผน ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่มีสิทธิโต้แย้ง แต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบกับแผน พนักงานอัยการยังไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องจะต้องให้ศาลพิจารณาก่อน ถ้าศาลเห็นชอบกับแผน และมีการปฏิบัติตามแผนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 88 (กฎหมายใหม่) นอกจากนี้ตามมาตรา 86 (กฎหมายใหม่) ใช้ถ้อยคำว่า “ให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร” ดั่งนี้บ่งชี้ให้เห็นเจตนารมณ์ของมาตรา 86 (กฎหมายใหม่) ที่ใช้บังคับสำหรับคดีนี้ว่า ให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอีกชั้นหนึ่งก่อนและให้ศาลชั้นต้นสั่งตามที่เห็นสมควร อันเป็นดุลพินิจเด็ดขาดของศาลชั้นต้น ผู้อำนวยการสถานพินิจหรือพนักงานอัยการไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share