แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคสอง เป็นข้อสันนิษฐานในคดีอาญาเพื่อให้ผู้ขับรถเข้าแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือแสดงความบริสุทธิ์ จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ล. ลูกจ้างของจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ช. ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัย เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า ล. ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และจำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่า ล. เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 84 (2) ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 437
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 205,000 บาท (ที่ถูก 202,500 บาท) แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์เก๋ง หมายเลขทะเบียน 6 ฬ – 5840 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายชินและบริษัทสยามพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประโยชน์ ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2544 ประเภทชดใช้ค่าเสียหายโดยสิ้นเชิง จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและเป็นผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 81 – 2305 นนทบุรี โดยเป็นนายจ้างของนายเล็ก ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง ซึ่งเป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างและตามคำสั่งของจำเลย ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายชินขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเฉี่ยวชนกับรถบรรทุกที่นายเล็กขับบริเวณสี่แยก เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและนายชินถึงแก่ความตาย
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หลบหนีไปหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุให้สันนิษฐานว่า เป็นผู้กระทำความผิด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตนว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ เป็นข้อสันนิษฐานทางกฎหมายที่ใช้เฉพาะกับนายเล็กผู้ขับหรือควบคุมรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายเล็กผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อไม่มีผลผูกพันจำเลยหรือบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นผู้ขับรถยนต์ขณะเกิดเหตุ ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ไม่อยู่ภายในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานในคดีอาญาเพื่อให้ผู้ขับรถเข้าแสดงตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือแสดงความบริสุทธิ์ จึงไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างได้ ทั้งในคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า นายเล็กลูกจ้างของจำเลยขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายชิน ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่า นายเล็กทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และจำเลยให้การปฏิเสธว่า นายเล็กไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่า นายเล็กเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อเพราะโจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น) โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา 84 (2) ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 437 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายชินหรือนายเล็ก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สี่แยกที่เกิดเหตุมีระบบสัญญาณจราจรไฟอัตโนมัติที่ถูกตั้งระบบอัตโนมัติให้ปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟเพื่อให้รถด้านหนึ่งหยุดรถเมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีแดง และให้รถอีกด้านหนึ่งแล่นผ่านสี่แยกไปได้ เมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว เมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุระบุว่า จุดที่รถยนต์ทั้งสองคันชนกันอยู่เลยจากสี่แยกประมาณ 1 เมตร เนื่องจากพบจุดเริ่มของรอยห้ามล้อรถยนต์เก๋งครูดผิวถนนในช่องเดินรถที่สอง และรอยห้ามล้อรถบรรทุกของนายเล็กจากช่องเดินรถที่หนึ่งติดขอบทางเท้าเฉียงไปด้านขวาผ่านช่องเดินรถที่สองตัดรอยห้ามล้อรถยนต์เก๋งครูดผิวถนนไปหยุดในช่องเดินรถที่สาม ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุรถยนต์ของนายชินเพิ่งเลี้ยวเข้าถนนพระราม 9 ตัดใหม่ มาได้เพียง 1 เมตร ส่วนรถบรรทุกที่นายเล็กขับผ่านเลยสี่แยกมาถึงจุดเฉี่ยวชนของรถทั้งสองบริเวณทางข้ามม้าลาย 1 เมตร จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของนายวันชัยว่า นายชินขับรถตัดหน้ารถบรรทุกที่นายเล็กขับ เมื่อปรากฏว่าบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุเป็นย่านที่มีรถยนต์แล่นพลุกพล่าน แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 24 นาฬิกา หากนายเล็กขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเข้าสี่แยกมาก็จะต้องเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันอื่นที่แล่นออกจากถนนซอยเสรี 8 และเลี้ยวเข้าถนนพระราม 9 ตัดใหม่ ก่อนที่จะถึงจุดชนกับรถยนต์ที่นายชินขับ ดังนี้ น่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุทางเดินรถของนายเล็กได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวและทางเดินรถของนายชินได้รับสัญญาณจราจรไฟสีแดง เนื่องจากขณะเกิดเหตุสี่แยกที่เกิดเหตุได้เปิดใช้สัญญาณจราจรไฟระบบอัตโนมัติ ซึ่งผู้ขับรถที่มาถึงทางร่วมทางแยกที่ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีแดงจะต้องหยุดรถหลังเส้นให้หยุดรถ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) แต่นายชินมิได้หยุดรถกลับเลี้ยวรถเข้าถนนพระราม 9 ตัดใหม่ จนเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันอย่างแรงจนเกิดรอยห้ามล้อของรถยนต์เก๋งที่นายชินขับครูดไปตามผิวถนนยาว 10 เมตร และได้รับความเสียหายอย่างมาก จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การกระทำของนายชินจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายเล็กเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายชิน ผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียว โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิมาเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 วรรคสอง หรือไม่ และเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของฝ่ายใด จึงเป็นคดีปลดเปลื้องทุกข์ที่ไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท จำเลยเสียค่าขึ้นศาลมา 5,137.50 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาให้จำเลย
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 4,937.50 บาท ให้จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ