คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ระบุถึงการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและได้มอบอำนาจให้ ร.หรือ ธ. ฟ้องคดี โดยมีเลขานุการสถานทูตไทยรับรองว่าได้เห็นเอกสารการมอบอำนาจนั้น แม้เลขานุการสถานทูตไทยจะมิได้รับรองว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและผู้มอบอำนาจเป็นบุคคลมีอำนาจแท้จริง เมื่อจำเลยไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้าน ก็รับฟังว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องได้
การฟ้องคดีขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยย่อมเป็นการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) ซึ่งมีอายุความ 10 ปีนับแต่วันที่มีการละเมิดคือวันที่จำเลยจดทะเบียนการค้านั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษร “G” ประดิษฐ์เป็นรูปคล้ายหยดน้ำ อักษรโรมันได้แก่ “hansgrohe” ไม่มีกรอบ เวลาใช้ในการโฆษณา ตัว “G” อยู่ในวงกลมบ้าง ไม่มีวงกลมบ้าง ตัวอักษรโรมันบางครั้งเป็น “Hans Grohe” ด้วย ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษร “G” ประดิษฐ์ เป็นรูปหยดน้ำเช่นเดียวกับโจทก์ตัวอักษรโรมันว่า “Han Groh” อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงมีเพียงเล็กน้อยเมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงผิดได้
โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนจำเลย ทั้งได้จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศหลายประเทศ และได้ส่งสินค้ามาจำหน่ายในประเทศ ไทยก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งใช้กับสินค้าหลายประเภทรวมทั้งสินค้าจำพวก ฝักบัว ก๊อกน้ำ ท่อน้ำสายฝักบัว วาล์ว โจทก์ได้ผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่ายทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อกองทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าไว้ ๒ คำขอ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก ๑๓ และ ๕๐ แต่นายทะเบียนแจ้งว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอเลขที่ ๙๖๕๕๓ จึงไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทต่อไป และขอเพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยที่นายทะเบียนรับจดให้แล้ว และห้ามจำเลยขัดขวางการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล ผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจ ไม่มีอำนาจกระทำการในนามของโจทก์ โจทก์มิได้เป็นเจ้าของหรือผู้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องหมายการค้าตามฟ้อง และไม่เคยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ทั้งโจทก์ไม่เคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในต่างประเทศและในประเทศไทย ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ ไม่ใช่ความผิดของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ จำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเองและมีลักษณะบ่งเฉพาะตามความรู้ความเข้าใจเองด้วยความสุจริต และได้ใช้กับสินค้าของจำเลย ซึ่งผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทยเป็นที่แพร่หลายมานานกว่า ๑๐ ปีแล้วฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยจึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่ผู้เดียว แต่อย่างไรก็ดีเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้ไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งตัวอักษรการวางรูปแบบและสำเนียงการอ่านก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โจทก์ไม่เสียหาย ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยห้ามใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำภาษาโรมันว่า “hansgrohe” อ่านว่า “ฮันส์โกรฮ์” และรูปประดิษฐ์อักษรตัว “G” คล้ายหยดน้ำดีกว่าจำเลยและห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Han Groh” และรูปประดิษฐ์ตัว “G” คล้ายหยดน้ำ กับสินค้าของจำเลยต่อไป กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่กองทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าออกให้ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับในประเด็นข้อแรกนั้น ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ว่า เลขานุการสถานทูตไทยรับรองแต่เพียงว่า ได้เห็นเอกสารการมอบอำนาจเท่านั้น มิได้รับรองว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและผู้มอบอำนาจเป็นบุคคลมีอำนาจแท้จริง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์มีหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งระบุถึงการเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และได้มอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า หรือ นายธเนศ เปเรร่าฟ้องคดีพร้อมด้วยคำแปล โดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใดจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบนั้น จำเลยฎีกาว่า เมื่อเลขานุการสถานทูตไทยมิได้รับรองว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เอกสารหมาย จ.๑ ก็มิใช่เอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมายเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้นเป็นการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ซึ่งได้กระทำโดยถูกต้องแล้ว แม้มิได้มีคำรับรองดังที่จำเลยกล่าวอ้างก็สามารถที่จะรับฟังว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับประเด็นข้อที่สองเรื่องอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการฟ้องคดีขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยย่อมเป็นการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔มาตรา ๔๑ (๑) ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี นับจากวันที่มีการละเมิดคือวันที่จำเลยจดทะเบียนการค้านั้น กรณีนี้ จำเลยได้จดทะเบียนการค้าเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๒๐ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๗ ยังไม่เกิน ๑๐ ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนในประเด็นที่สามที่ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมายจ.๑๒ และ จ.๑๓ มีส่วนประกอบคือรูปตัวอักษรประดิษฐ์กับตัวอักษรโรมันรูปตัวอักษรประดิษฐ์นั้น เป็นประดิษฐ์ตัว “G” ประดิษฐ์คล้ายหยดน้ำส่วนที่เป็นตัวอักษรโรมันนั้นได้แก่ “hansgrohe” ไม่มีกรอบ และเวลาใช้ในการโฆษณา ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๓, จ.๑๑, จ.๑๗-จ.๑๙, จ.๒๑ และ จ.๒๓ นั้น รูปประดิษฐ์ตัว “G” อยู่ในวงกลมบ้าง และไม่มีวงกลมบ้าง ส่วนตัวอักษรโรมันบางครั้งก็เป็น “Hansgrohe” บางครั้งก็เป็น “Hans Grohe” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.๑๔ มีสองส่วนคือ รูปประดิษฐ์อักษรตัว “G” เป็นรูปหยดน้ำเช่นเดียวกับของโจทก์ กับตัวอักษรโรมันว่า “Gan Groh” และทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนที่เหมือนกับของโจทก์ได้แก่ ส่วนแรกคือ รูปประดิษฐ์ตัวอักษร “G” เป็นรูปหยดน้ำ ส่วนที่แตกต่างกันนั้นได้แก่ตัวอักษรโรมัน คำหน้าของโจทก์เป็น “Hans”มีตัว S ลงท้าย ส่วนของจำเลยเป็น “Han” ไม่มีตัว S ลงท้ายคำหลังของโจทก์เป็น “Grohe” มีตัว e ลงท้าย ส่วนของจำเลยเป็น “Groh”ไม่มีตัว e ลงท้าย เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ส่วนที่สองของเครื่องหมาการค้าของโจทก์กับของจำเลยที่เป็นข้อความอักษรโรมันนั้น วางอยู่ในลักษณะเดียวกัน แม้จะแตกต่างกันบ้างก็เพียงขาดอักษรบางตัวดังกล่าวมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน แม้คำอ่านที่จำเลยจดทะเบียนไว้ แตกต่างจากของโจทก์คือพยางค์แรกของโจทก์ อ่านว่า “ฮันส์” ส่วนของจำเลยอ่านว่า “แฮง” แต่ก็มิได้มีคำอ่านกำกับไว้ ประชาชนผู้พบเห็นอาจจะอ่านคำว่า “Hans” ในสินค้าของโจทก์ กับคำว่า “Han” ในสินค้าของจำเลยเหมือนกันได้ ความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงมีเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน อาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและหลงผิดได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับในประเด็นสุดท้ายนั้น ข้อนี้โจทก์นำสืบโดยมีเอกสารหมาย จ.๒๕ ว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๘ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๑ ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัและได้จดทะเบียนต่อมาอีกในหลายประเทศตามเอกสารหมาย จ.๒๖ ถึง จ.๓๓ และห้างหุ้นส่วนจำกัดชาญไพบูลย์การค้าเคยสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ตามเอกสารหมาย จ.๕ นอกจากนี้โจทก์ยังมีตัวอย่างการโฆษณาสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๘ ถึง จ.๑๑ และ จ.๑๗ ถึง จ.๒๑ ส่วนจำเลยนำสืบแต่เพียงว่าได้เครื่องหมายการค้ามาอย่างไร และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒ มิได้นำสืบถึงการจำหน่ายหรือการโฆษณาสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของจำเลยแต่อย่างใด เช่นนี้ เห็นว่า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทมาก่อนจำเลย ทั้งได้จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศหลายประเทศและได้ส่งสินค้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการพิพาทดีกว่าจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share