คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในคดีที่จะขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่า สมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดี หากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา หากศาลไม่อนุญาตให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี คู่ความที่ยื่นคำร้องขอก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีนี้ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียก ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้รับผิดต่อโจทก์ เนื่องจาก ศ. เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ตัวแทนทำไว้กับโจทก์ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าไม่สะดวกแก่การพิจารณาเพราะต้องตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเดิม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องว่ากล่าวกับ ศ. โดยเฉพาะ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องจึงเป็นดุลพินิจในการพิจารณาสั่งคดีของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่มีเหตุให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 520,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงินจำนวน 149,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 149,100 บาท นับถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในอัตราวันละ 700 บาท นับถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายเศกสรร เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮลักซ์ วีโก้ เอ็กซ์ตร้าแคป หมายเลขทะเบียน ตร 9157 กรุงเทพมหานคร ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสามใช้ราคาแทนเป็นเงิน 420,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 42,000 บาท และในอัตราเดือนละ 6,000 บาท นับถัดวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จแก่โจทก์ แต่ไม่เกิน 9 เดือน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้เรียกนายเศกสรร เข้ามาเป็นจำเลยร่วมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า คำร้องขอให้เรียกนายเศกสรรเข้ามาเป็นจำเลยร่วมของจำเลยที่ 1 มีเหตุผลอันสมควร หากบุคคลดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นย่อมจะพิพากษาคดีให้เสร็จไปในคราวเดียวโดยคู่ความไม่ต้องไปฟ้องร้องกันอีกและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในคดีที่จะขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดีหากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา หากศาลไม่อนุญาตให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี คู่ความที่ยื่นคำร้องขอก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีนี้ได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายเศกสรรเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้รับผิดต่อโจทก์เนื่องจากนายเศกสรรเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ตัวแทนทำไว้กับโจทก์ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่า ไม่สะดวกแก่การพิจารณาเพราะต้องตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเดิม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องว่ากล่าวกับนายเศกสรรโดยเฉพาะ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องจึงเป็นดุลพินิจในการพิจารณาสั่งคดีของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share