แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 บัญญัติว่า …ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกรณีทั่วไป มาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี… และมาตรา 40 บัญญัติว่า ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงเป็นผู้แทนของวัด และมีหน้าที่บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ซึ่งคำว่า จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดนั้น หมายถึง การบริหารจัดการวัดและศาสนสมบัติของวัดนั่นเอง โจทก์โดยเจ้าอาวาสจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดิน ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัดโจทก์โดยละเมิดได้ ส่วนบทบัญญัติมาตรา 40 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดวิธีการในการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับอำนาจฟ้อง
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการนำที่ดินศาสนสมบัติของวัดโจทก์ออกให้เช่า ซึ่งการตั้งตัวแทนให้กระทำการต่าง ๆ นั้น หาตัดสิทธิตัวการที่กระทำการนั้นด้วยตนเองไม่ อีกทั้งคดีนี้เป็นการฟ้องให้รับผิดในข้อหาละเมิด เมื่อโจทก์หรือเจ้าอาวาสมีอำนาจฟ้องขับไล่แล้ว โจทก์ย่อมมอบอำนาจให้ พ. หรือ ส. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 654/1 ถนนเทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไป ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างคือ บ้านเลขที่ 654/1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร พร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ตำบลวัดกัลยาณ์ (บางกอกใหญ่ฝั่งใต้) อำเภอธนบุรี (บางกอกใหญ่) กรุงเทพมหานคร กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทวัดพระอารามหลวงในพระพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มีพระธรรมเจดีย์เป็นเจ้าอาวาส โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ตำบลวัดกัลยาณ์ (บางกอกใหญ่ฝั่งใต้) อำเภอธนบุรี (บางกอกใหญ่) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ จำเลยเช่าที่ดินดังกล่าวของโจทก์บางส่วนเนื้อที่ประมาณ 23.20 ตารางวา เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย มีกำหนดระยะเวลาเช่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 โดยจำเลยทำสัญญาเช่ากับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีการต่อสัญญาเช่าอีกสองครั้งและครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว จำเลยยังคงพักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 มิได้บัญญัติให้เจ้าอาวาสมีอำนาจดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด การจัดการเกี่ยวกับศาสนสมบัติของวัดจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 40 วรรคสาม ซึ่งกำหนดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เมื่อยังไม่มีการออกกฎกระทรวงในเรื่องดังกล่าว พระธรรมเจดีย์เจ้าอาวาสวัดโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัดโจทก์ จึงไม่อาจมอบอำนาจให้นายพิชานหรือนายสันติ โจทก์มาฟ้องคดีนี้ เห็นว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง (1) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (2) สำนักสงฆ์ ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป มาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและ ศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี และมาตรา 40 บัญญัติว่า ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น เมื่อตามมาตรา 31 บัญญัติให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัด และมาตรา 37 (1) บัญญัติให้เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ซึ่งคำว่า จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดนั้น หมายถึง การบริหารจัดการวัดและศาสนสมบัติของวัดนั่นเอง โจทก์โดยเจ้าอาวาสจึงย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัดโจทก์โดยละเมิด เพื่อนำที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์ของวัดโจทก์ได้ ส่วนบทบัญญัติมาตรา 40 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดวิธีการในการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับเรื่องอำนาจฟ้อง ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์จะต้องมอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ฟ้องร้องคดีนี้แทนนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการนำที่ดินศาสนบัติของวัดโจทก์ออกให้เช่า ซึ่งการตั้งตัวแทนให้กระทำการต่าง ๆ นั้น หาตัดสิทธิตัวการที่กระทำการนั้นด้วยตนเองไม่ อีกทั้งคดีนี้เป็นการฟ้องให้รับผิดในข้อหาละเมิด หาใช่เป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญาเช่าไม่ เมื่อโจทก์หรือเจ้าอาวาสมีอำนาจฟ้องขับไล่แล้ว โจทก์ก็ย่อมมอบอำนาจให้นายพิชานหรือนายสันติฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีแผนที่ที่ระบุว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 13898, 2797 และ 2181 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์มีอาณาเขตครอบคลุมเพียงใด ทั้งโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงใดมายืนยันว่า บ้านเลขที่ 654/1 ของจำเลยปลูกในที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ตามฟ้อง จึงฟังไม่ได้ว่า บ้านเลขที่ 654/1 ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 นั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยมิได้ปลูกบ้านเลขที่ 654/1 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ของโจทก์ การที่จำเลยกลับมาอุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยไม่ได้ปลูกบ้านเลขที่ 654/1 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 13898 ตามที่โจทก์ฟ้องนั้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ