คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14427/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ดาบตำรวจ ว. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงเป็นเวรดูแลผู้ต้องหาในห้องควบคุมของสถานีตำรวจให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี แต่ดาบตำรวจ ว. ขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เวรยามจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำร้าย ส. จนถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันผลจากเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่า ดาบตำรวจ ว. ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของดาบตำรวจ ว. จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แต่ดาบตำรวจ ว. ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ คงรับผิดเป็นการเฉพาะตัวของดาบตำรวจ ว. ที่ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้าย ส. ถึงแก่ความตาย ซึ่งพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว สมควรให้ดาบตำรวจ ว. รับผิดเพียง 200,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลจำนวน 20,000 บาท และแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 20,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะที่นายสุลัยมาล ผู้ตาย มีต่อโจทก์และบุตรทั้งห้าคน เป็นเงิน 1,800,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,820,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,820,000 บาท นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2545 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 660,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 20 กรกฎาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุลัยมาล มีบุตรด้วยกัน 5 คน เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือจับนายสุลัยมาลในข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต วันที่ 20 กรกฎาคม 2545 เวลาประมาณ 4 นาฬิกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งถูกควบคุมในห้องควบคุมเดียวกับนายสุลัยมาลได้ร่วมกันทำร้ายนายสุลัยมาลจนถึงแก่ความตาย ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจวิสูตร ข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องหานั่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ ประมาณ 6 เมตร ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาธนบุรีในข้อหาทำร้ายนายสุลัยมาลจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และศาลอาญาธนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 7 ปี 6 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้ายนายสุลัยมาลจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายในห้องควบคุมสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือ เกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของดาบตำรวจวิสูตรหรือไม่ เห็นว่า ในคืนเกิดเหตุดาบตำรวจวิสูตร มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงเป็นเวรดูแลผู้ต้องหาในห้องควบคุมสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือที่เกิดเหตุให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี ดาบตำรวจวิสูตรเบิกความว่า จะเดินตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหาทุก 2 ชั่วโมง และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เวลา 2 นาฬิกา และ 4 นาฬิกา ได้ตรวจห้องควบคุมโดยไปยืนดูที่ด้านนอกห้องควบคุม ไม่ได้เข้าไปในห้องควบคุมตรวจดูผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิด ร้อยตำรวจเอกอัศวิน พนักงานสอบสวนร้อยเวรเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานไปตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหา โดยยืนดูที่ห้องพิมพ์ลายนิ้วมือซึ่งอยู่หน้าประตูห้องควบคุม แสดงว่าไม่ได้เข้าไปตรวจผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิดในห้องควบคุมอีกเช่นเดียวกัน ทำให้ไม่ทราบเรื่อง และไม่ได้ระงับเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รุมทำร้ายนายสุลัยมาลจนถึงแก่ความตายเมื่อเวลาประมาณ 4 นาฬิกา นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้ายนายสุลัยมาลโดยใช้ผ้าเช็ดตัวรัดคอ แล้วชก เตะ กระทืบหลายครั้ง เป็นเหตุให้กระดูกซี่โครงหักหลายซี่ ตับฉีกขาด และถึงแก่ความตาย จะเห็นว่าลักษณะบาดแผลเช่นนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันทำร้ายนายสุลัยมาลอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน และต้องมีเสียงดัง แต่ดาบตำรวจวิสูตรซึ่งนั่งอยู่เวรห่างจากจุดเกิดเหตุเพียงประมาณ 6 เมตร กลับอ้างว่าไม่ได้ยิน จึงไม่ได้ระงับเหตุร้าย แสดงให้เห็นถึงความหละหลวมหย่อนยานขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เวรยามของดาบตำรวจวิสูตร ซึ่งเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันผลจากเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่าดาบตำรวจวิสูตรประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีโอกาสรุมทำร้ายนายสุลัยมาลถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องขาดไร้อุปการะจากนายสุลัยมาลผู้เป็นสามี อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของดาบตำรวจวิสูตร จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อสุดท้ายว่า ดาบตำรวจวิสูตรต้องรับผิดในผลละเมิดเฉพาะที่ตนกระทำเพียง 1 ใน 4 ส่วน โดยไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ดาบตำรวจวิสูตรกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหาตามหน้าที่เวรยาม ไม่ได้รู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ร่วมกันทำร้ายนายสุลัยมาลด้วย จึงถือว่าดาบตำรวจวิสูตรไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ดาบตำรวจวิสูตรจึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ คงรับผิดเป็นการเฉพาะตัวของดาบตำรวจวิสูตรที่ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้ายนายสุลัยมาล จนถึงแก่ความตาย ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วสมควรให้ดาบตำรวจวิสูตรรับผิดเพียง 200,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินเพียง 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share