แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดและได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาททางทะเบียนโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองและบริวารขัดขวางโต้แย้ง โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าบ้านพิพาทจากทายาทของ ส. ซึ่งเป็นการอาศัยสิทธิของ ส. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเดิมนั่นเอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในฐานะบริวารของ ส. ได้
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) บัญญัติว่า ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้… (2) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งหมายความว่า ในการพิจารณาคดีของศาลทุกชั้นศาล หากผู้พิพากษาคนเดียวจะมีคำสั่งใดซึ่งมิใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบ แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นจะต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาสองคน แต่ในการพิจารณาของศาลในวันที่ 20 มกราคม 2548 เป็นการสั่งเลื่อนการสืบพยานและระบุรายละเอียดการส่งเอกสารไปสืบพยานประเด็นจำเลยที่ 1 ยังศาลชั้นต้นอื่น ซึ่งล้วนเป็นการที่ศาลชั้นต้นได้ออกคำสั่งที่มิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี คำสั่งและการพิจารณาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 20 มกราคม 2548 จึงชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 64/214 หมู่บ้านกฤษดานคร 12 โซน 2 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 45381 แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 25,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 64/214 หมู่บ้าน กฤษดานคร 12 โซน 2 แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 45381 ตำบลฉิมพลี (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 20,000 บาท แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 225,000 บาท และเดือนละ 15,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ 1,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 45381 ตำบลฉิมพลี (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 64/214 ที่พิพาทเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสุรัสวดี ต่อมาธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฟ้องนางสุรัสวดีเป็นจำเลย ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2542 ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินและบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดใช้หนี้ตามคำพิพากษา โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทได้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2545 และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาโดยถูกต้องแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2544 นางสุรัสวดีถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก และครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าบ้านพิพาทจากพันตรีชัยยุทธทายาทอีกคนหนึ่งของนางสุรัสวดี โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นบุคคลผู้ซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ทั้งได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาททางทะเบียนโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาท แต่เมื่อโจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากจำเลยทั้งสองและบริวารขัดขวางโต้แย้งการใช้สิทธิของโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้ฟ้องเจ้าพนักงานบังคับคดีและธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอเพิกถอนการประเมินราคาและการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านพิพาท ทั้งจำเลยที่ 1 ได้สละการครอบครองทรัพย์พิพาทให้แก่พันตรีชัยยุทธ (ยศขณะฟ้อง) ทายาทของนางสุรัสวดีอีกผู้หนึ่งแล้วนั้น ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เองยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองบ้านพิพาทอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม 2547 และขณะโจทก์ไปขับไล่จำเลยที่ 2 ออกจากบ้านพิพาท จำเลยที่ 1 ได้เข้าแสดงตัวขัดขวางการขับไล่และไปเจรจากับโจทก์ที่สถานีตำรวจ แม้จำเลยที่ 1 อ้างต่อมาว่า ทายาทของนางสุรัสวดีได้มอบการครอบครองบ้านพิพาทให้แก่พันตรีชัยยุทธแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุรัสวดี ซึ่งเป็นการอาศัยสิทธิของนางสุรัสวดีลูกหนี้ตามคำพิพากษาเจ้าของเดิมนั่นเอง ทั้งจำเลยทั้งสองยังไม่ยินยอมให้โจทก์เข้ามาใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาท แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปแล้วก็ตาม โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยทั้งสองอยู่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาทโดยชอบย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในฐานะบริวารของนางสุรัสวดีได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้ขับไล่จำเลยทั้งสองจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่การสืบพยานโจทก์จนถึงวันที่จำเลยที่ 1 สืบพยานมีเพียงผู้พิพากษาคนเดียวนั่งพิจารณาซึ่งไม่ครบองค์คณะ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 นั้น ศาลได้ตรวจสำนวนของศาลชั้นต้นโดยตลอดแล้ว เห็นว่า การพิจารณาคดีในชั้นสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองนั้น ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะได้นั่งพิจารณาครบองค์คณะตลอดมา ยกเว้นในรายงานพิจารณาลงวันที่ 20 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ซึ่งนางนิรมล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนลงชื่อในรายงานการพิจารณาเพียงคนเดียว โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่เดียวกันขอเลื่อนการพิจารณาคดีเพราะเหตุว่าจำเลยที่ 1 ติดราชการกะทันหัน ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องของจำเลยที่ 1 ว่า สำเนาให้โจทก์สั่งในรายงานฯ และจึงขึ้นนั่งพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 1 พร้อมกับทนายโจทก์ แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกัน และจดรายงานกระบวนพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีเพื่อส่งไปสืบพยานประเด็นจำเลยที่ 1 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นตามที่คู่ความตกลงกันก่อนหน้านี้แล้ว เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) บัญญัติว่า ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้… (2) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งหมายความว่า ในการพิจารณาคดีของศาลทุกชั้นศาล หากผู้พิพากษาคนเดียวจะมีคำสั่งใดซึ่งมิใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบ แม้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นจะต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาสองคน แต่ในการพิจารณาของศาลในวันที่ 20 มกราคม 2548 เป็นการสั่งเลื่อนการสืบพยานตามคำร้องของจำเลยที่ 1 เองและระบุรายละเอียดการส่งเอกสารไปสืบพยานประเด็นจำเลยที่ 1 ยังศาลชั้นต้นอื่น ซึ่งล้วนเป็นการที่ศาลชั้นต้นได้ออกคำสั่งที่มิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี คำสั่งและการพิจารณาของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 20 มกราคม 2548 จึงชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ