แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ เป็นเอกชน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า นางสาว ส ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมีนางสาว พ (ผู้ตาย) ซ้อนท้าย ขณะที่ขับรถจักรยานยนต์ลงสะพานได้ตกหลุมขนาดกว้าง จนเป็นเหตุให้นางสาว พ พลัดตกอยู่บนพื้นถนน ขณะนั้นจำเลยที่ ๔ ได้ขับขี่รถยนต์ วิ่งสวนทางมาด้วยความเร็วโดยประมาท พุ่งเข้าทับนางสาว พ ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๔ ได้กระทำไป ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้นมีหน้าที่ดูแลซ่อมแซมถนนพิพาทแต่ละเลย ทั้งยังไม่จัดให้มีป้ายหรือเครื่องหมายไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าถนนชำรุด การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ประเด็นแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ จึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนประเด็นแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แม้โจทก์ฟ้องให้ต้องรับผิดในมูลละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิด มูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ จึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเดียวกันเพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๕๗
วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดมีนบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดมีนบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ นางนงลักษณ์ สาริกบุตร โดยนางสาวพันธ์ทิพย์ สาริกบุตร ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทโอสถสภา จำกัด ที่ ๑ บริษัทโอสถสภาประกันภัย จำกัด ที่ ๒ กรุงเทพมหานคร ที่ ๓ นางสาวอุมาพร โฮ่กี่ ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๒๗/๒๕๕๕ ความว่า เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. นางสาวสุมารี สาริกบุตร ขับขี่รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ยขบ ๓๙๘ โดยมีนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร (ผู้ตาย) ซ้อนท้ายไปตามถนนขุมทอง – ลำต้อยติ่ง ขณะที่ขับรถลงสะพาน (คลองลำตาอิน) รถจักรยานยนต์ได้ตกหลุมขนาดกว้าง ประมาณ ๑ เมตร ลึกประมาณ ๖ นิ้ว จนเป็นเหตุให้นางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร พลัดตกจากรถจักรยานยนต์และล้มลงนอนอยู่บนพื้นถนน ขณะนั้นจำเลยที่ ๔ ได้ขับขี่รถยนต์โตโยต้าวีออส หมายเลขทะเบียน ฌน ๓๓๕๗ วิ่งสวนทางมาด้วยความเร็วและประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ จำเลยที่ ๔ ควรจะต้องขับขี่รถยนต์มาช้าๆ ในขณะที่พื้นผิวถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ แต่จำเลยที่ ๔ หาได้ทำเช่นนั้นไม่ แต่กลับขับขี่ชิดขวาด้วยความเร็วพุ่งเข้าทับนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๔ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างด้วย ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้นมีหน้าที่ดูแลซ่อมแซมถนนพิพาทไม่ให้เกิดชำรุดบกพร่องแต่ละเลยไม่ซ่อมแซม ทั้งยังไม่จัดให้มีป้ายหรือเครื่องหมายไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าถนนชำรุด การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าปลงศพและค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นจำนวนเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๔ แต่จำเลยที่ ๔ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อเพราะเป็นเหตุสุดวิสัย คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๔ ขับขี่ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๔ มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตรถึงแก่ความตาย แต่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของนางสาวสุมารี สาริกบุตร จำเลยที่ ๔ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาเลิกงานและกำลังกลับบ้าน จึงไม่ได้เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้าง โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงเกินจริง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ความตายของนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร เป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อของนางสาวสุมารี สาริกบุตร โจทก์ไม่ได้เป็นมารดาและไม่ได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร ผู้ตาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ เป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มีหน้าที่ดูแลซ่อมแซมถนนสายขุมทอง-ลำต้อยติ่ง ซึ่งอยู่ในท้องที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ วิศวกรรมจราจร ดูแลรักษาที่สาธารณะและการสาธารณูปโภค ตามมาตรา ๘๙ (๖) (๗) (๑๐) และ (๑๕) ตามพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่ประมาทเลินเล่อละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์หาได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๓ ใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ หรือคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใด คดีนี้จึงเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่าจำเลยที่ ๓ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๓ เป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามที่นิยามไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีหน้าที่ในการให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๙ วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ กรณีเห็นได้แจ้งชัดว่า คำฟ้องของโจทก์ที่กล่าวอ้างว่า ความตายของนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร เป็นผลมาจากการที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องดูแลซ่อมแซมถนนพิพาทไม่ให้เกิดชำรุดบกพร่อง แต่ละเลยไม่ซ่อมแซมและไม่จัดให้มีป้ายหรือเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่าถนนชำรุด เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๓ ละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่บำรุงรักษาทางดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๙ วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ จึงเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว ส่วนประเด็นว่าการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาต่อไปอีกประเด็นหนึ่งต่างหาก คำฟ้องเฉพาะในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๓ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ เป็นเอกชน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยอ้างว่า นางสาวสุมารี สาริกบุตร ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนน โดยมีนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร (ผู้ตาย) ซ้อนท้าย ขณะที่ขับรถลงสะพานรถจักรยานยนต์ได้ตกหลุมขนาดกว้าง ประมาณ ๑ เมตร ลึกประมาณ ๖ นิ้ว จนเป็นเหตุให้นางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร พลัดตกจากรถจักรยานยนต์และล้มลงนอนอยู่บนพื้นถนน ขณะนั้นจำเลยที่ ๔ ได้ขับขี่รถยนต์ วิ่งสวนทางมาด้วยความเร็วโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่จำเลยที่ ๔ หาได้ทำเช่นนั้นไม่ แต่กลับขับขี่ชิดขวามาด้วยความเร็วพุ่งเข้าทับนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๔ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างด้วย ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้นมีหน้าที่ดูแลซ่อมแซมถนนพิพาทไม่ให้เกิดชำรุดบกพร่องแต่ละเลยไม่ซ่อมแซม ทั้งยังไม่จัดให้มีป้ายหรือเครื่องหมายไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าถนนชำรุด การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าปลงศพและค่าเสียหายแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยนับจากวันละเมิด จำเลยที่ ๑ ให้การว่าเป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๔ คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๔ ขับขี่ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๔ มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตรถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๔ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาเลิกงานและกำลังกลับบ้าน จึงไม่ได้เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้าง โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงเกินจริง จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ความตายของนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร เป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อของนางสาวสุมารี สาริกบุตร ขอให้ยกฟ้อง ประเด็นแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ จึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนประเด็นแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แม้โจทก์ฟ้องให้ต้องรับผิดในมูลละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดที่สืบเนื่องจากผลแห่งความตายของนางสาวพิสุทธิ์ศรี สาริกบุตร ร่วมกัน มูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ กรณีจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเดียวกันเพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางนงลักษณ์ สาริกบุตร โดยนางสาวพันธ์ทิพย์ สาริกบุตร ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ บริษัทโอสถสภา จำกัด ที่ ๑ บริษัทโอสถสภาประกันภัย จำกัด ที่ ๒ กรุงเทพมหานคร ที่ ๓ นางสาวอุมาพร โฮ่กี่ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ