แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวโดยอ้างว่าออกในพื้นที่ป่าภูแลนคา ซึ่งเป็นป่าคุ้มครองและได้ประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า น.ส. ๓ ก. ไม่ได้ออกทับทางสาธารณประโยชน์ ป่าสงวนและป่าคุ้มครอง ซึ่งข้อเท็จจริงยุติ ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลจังหวัดชัยภูมิว่า ที่ดินดังกล่าวผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่พิพาททับที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ น.ส. ๓ ก. ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๘/๒๕๕๖
วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดชัยภูมิ
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ นางคำบด เริงชัยภูมิ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๘๓๘ ตำบลห้วยไร่ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ (ต่อมามีการแบ่งแยก น.ส. ๓ ก. ฉบับดังกล่าวออกเป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๕) โดยซื้อที่ดินมาจากนายสังวาลย์ บุญศรี ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ถูกผู้มีอิทธิพลชักจูงโน้มน้าวจนในปี ๒๕๕๔ ได้มีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๘ ของผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่า น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีออกในพื้นที่ป่าภูแลนคาซึ่งเป็นป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าภูแลนคาเป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๔๙๒ และได้ประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๑๒ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออก น.ส. ๓ ก. ฉบับดังกล่าวมิได้ออกโดยคลาดเคลื่อน เนื่องจากผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีไม่เคยออกทับทางสาธารณประโยชน์ ป่าสงวนและป่าคุ้มครอง ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลจังหวัดชัยภูมิว่า ที่ดินดังกล่าวผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง (คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๘๒๗/๒๕๔๔ ระหว่าง นางคำบด เริงชัยภูมิ โจทก์ นายสำฤทธิ์ ปราณีชน ที่ ๑ กับพวกรวม ๓ คน จำเลย) ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทเดิมเป็นที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๐๗ มีชื่อนายปาน สวาดนา เป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๘ ต่อมาบุตรของนายปานได้ขอรับรองการทำประโยชน์และในปี ๒๕๐๕ ได้ขายที่พิพาทให้แก่นายสังวาลย์ ซึ่งต่อมาในปี ๒๕๓๔ ได้โอนขายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ที่ดินแปลงพิพาทเป็นการแจ้งการครอบครองหลังจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๔๙๒ กำหนดให้ป่าภูแลนคาเป็นป่าคุ้มครอง และประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นการแจ้งการครอบครองทับที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ เมื่อนำ ส.ค. ๑ ที่ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้แจ้งมาเป็นหลักฐานในการขอรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๘ จึงเป็น น.ส. ๓ ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวได้ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายที่มีผลทำให้สิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่ตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๘ และเลขที่ ๑๘๔๕ ถูกระงับไป จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ส่วนการที่จะต้องพิจารณาปัญหาเบื้องต้นว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคา ไม่ใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดชัยภูมิพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๓๘ (ต่อมามีการแบ่งแยก น.ส. ๓ ก. ฉบับดังกล่าวออกเป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๕) โดยซื้อที่ดินมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ถูกผู้มีอิทธิพลชักจูงโน้มน้าวจนมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ของผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่า ออกในพื้นที่ป่าภูแลนคาซึ่งเป็นป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าภูแลนคาเป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ. ๒๔๙๒ และได้ประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๑๒ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวไม่ได้ออกทับทางสาธารณประโยชน์ป่าสงวนและป่าคุ้มครอง ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลจังหวัดชัยภูมิว่า ที่ดินดังกล่าวผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง (คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๘๒๗/๒๕๔๔ ระหว่าง นางคำบด เริงชัยภูมิ โจทก์ นายสำฤทธิ์ ปราณีชน ที่ ๑ กับพวกรวม ๓ คน จำเลย) ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทเดิมเป็นที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๑๐๗ ซึ่งเป็นการแจ้งการครอบครองทับที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ เมื่อนำ ส.ค. ๑ ที่ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้แจ้งมาเป็นหลักฐานในการขอรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดิน น.ส. ๓ ก. จึงเป็น น.ส. ๓ ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจเพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวได้ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดี ที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นสำคัญ และการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางคำบด เริงชัยภูมิ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ