คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 102/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองต้นสังกัด ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง และผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร แต่ศาลปกครองกลางเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของตนแล้วส่งเรื่องไปให้ศาลทหารกรุงเทพทำความเห็น ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด เห็นว่า โดยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ต้องการให้ศาลที่เกี่ยวข้องได้จัดทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาล เพราะในท้ายที่สุดอาจมีการโอนหรือจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจในคดีนั้น กรณีนี้แม้ศาลปกครองกลางและศาลทหารกรุงเทพจะมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเขตอำนาจศาล แต่เมื่อศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่ศาลที่ผู้ถูกฟ้องคดี ยื่นคำร้องว่าเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดี และศาลยุติธรรมก็ไม่ใช่ศาลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการจัดทำความเห็นในคดีนี้ หรืออีกนัยหนึ่งอาจถือได้ว่าทั้งศาลปกครองกลางและศาลทหารกรุงเทพมิได้มีความเห็นแตกต่างกันว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร กรณีถือไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจศาล จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสาม ชอบที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒)

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๐๒/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖

เรื่อง การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลทหารกรุงเทพ

การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๕ พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ ๑ กระทรวงกลาโหม ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๔๗/๒๕๕๕ ความว่า ขณะเกิดเหตุผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๓๘๓/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕ มาตรา ๙ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้ผู้ฟ้องคดีช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีจะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เนื่องจากเกษียณอายุราชการ อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจและเป็นไปเพื่อไม่ให้ผู้ฟ้องคดีมีส่วนร่วมในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ราชการ อันเป็นการไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา ๕ มาตรา ๙ และมาตรา ๒๔ และเป็นการออกคำสั่งโดยไม่สุจริต เป็นการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่พอสมควรแก่เหตุหรือไม่ได้สัดส่วน และเป็นการออกคำสั่งที่ไม่มีเหตุผลประกอบ ทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอหรือมีโอกาสโต้แย้งแสดงหลักฐาน ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๐ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๓๘๓/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันออกคำสั่ง กับให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๒๔,๒๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยทหารที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร การออกคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๓๘๓/๒๕๕๕ ให้ผู้ฟ้องคดีช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นไปเนื่องจากผู้ฟ้องคดีกระทำผิดระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดทางอาญารวมถึงความผิดอาญาทหารด้วย คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งในทางยุทธการ ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง ประกอบกับด้วยมูลความผิดเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๓๘๔/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๕ ให้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายทหารสัญญาบัตรกระทำการเข้าข่ายผิดวินัย อันเป็นกระบวนการในการดำเนินการทางวินัยทหารควบคู่กันกับคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๓๘๓/๒๕๕๕ ให้ผู้ฟ้องคดีช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมด้วย จึงเป็นกรณีกระทำผิดวินัยทหารในกรณีเดียวกันและเกี่ยวเนื่องกัน ข้อพิพาทคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕ มาตรา ๙ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๕๑ และมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง และข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังมิได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการเริ่มต้นกระบวนการในการดำเนินการทางวินัยโดยการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิด อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวระบุเหตุผลไว้เพียงว่าเพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มิได้อ้างมูลเหตุในการออกคำสั่งว่าสืบเนื่องมาจากการดำเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งอันเนื่องมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร แต่เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ให้ตรวจสอบการใช้อำนาจออกคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๓๘๓/๒๕๕๕ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการเฉพาะ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิใช่คดีอาญาทหารที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๘ ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ และมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหารตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๘ ประกอบพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ (๔) เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ยังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จึงไม่ใช่คดีที่กล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญาที่ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เกี่ยวกับความเป็นมาของการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยปฏิบัติราชการที่สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรง ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีควบคู่ไปด้วย การออกคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นความผิดทางวินัย เมื่อผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ที่จะขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยปฏิบัติราชการอันเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องวินัยทหาร คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๑) กรณีต้องด้วยมาตรา ๒๑๘ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการของศาลปกครองกลางชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) หรือไม่
พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องและให้ศาลรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวแล้วจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ผู้ร้องเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว และวรรคสาม บัญญัติว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเอง ก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น คดีที่ศาลจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้จึงต้องเป็นคดีที่เริ่มกระบวนการโดยคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง หรือเป็นกรณีที่ศาลที่รับฟ้องนั้นเห็นเองว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่นตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม และมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๓) ยังกำหนดวิธีดำเนินการของศาลโดยให้ศาลที่รับฟ้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ผู้ร้องหรือศาลที่รับฟ้องเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจจัดทำความเห็น หากศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกันก็อาจมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเดิมนั้นต่อไป หรืออาจมีการโอนหรือจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องที่ศาลที่เห็นพ้องกันว่ามีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลต้องการให้ศาลที่เกี่ยวข้องทั้งในคดีที่มีการโต้แย้งหรือในคดีที่ศาลเห็นเองเรื่องเขตอำนาจได้จัดทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาล เพราะในท้ายที่สุดอาจมีการโอนหรือจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจในคดีนั้น ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ การส่งเรื่องให้คณะกรรมการของศาลปกครองกลางเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ศาลปกครองกลางจัดทำความเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ต่อมาศาลทหารกรุงเทพจัดทำความเห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารและศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เห็นว่า ในกรณีนี้แม้ศาลปกครองกลางและศาลทหารกรุงเทพจะมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเขตอำนาจศาลโดยศาลปกครองกลางเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลตน ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง แต่เมื่อศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่ศาลที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเริ่มกระบวนการเกี่ยวกับการโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ยื่นคำร้องว่าเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดี และศาลยุติธรรมก็ไม่ใช่ศาลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการจัดทำความเห็นในคดีนี้ หรืออีกนัยหนึ่งอาจถือได้ว่าทั้งศาลปกครองกลางและศาลทหารกรุงเทพมิได้มีความเห็นแตกต่างกันว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร กรณีถือไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจศาล จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสาม ชอบที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒)
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องของศาลปกครองกลางกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลปกครองกลางและศาลทหารกรุงเทพไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) อาศัยอำนาจตาม มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(สุขสันต์ สิงหเดช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share