แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันรังวัดรวมโฉนดที่ดิน ๗ แปลง ทับที่ดินของโจทก์หลังจากนั้นก็ยื่นคำขอแบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น ๔ แปลง แล้วทำนิติกรรมโอนที่ดินบางส่วนให้กับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้กรมที่ดินจำเลยที่ ๗และอธิบดีกรมที่ดิน จำเลยที่ ๘ เพิกถอนโฉนดที่ดินเดิม และโฉนดที่ดินที่ได้จากการแบ่งแยกดังกล่าว รวมทั้งรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งหมดหากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย รวมทั้งมีคำสั่งห้ามจำเลยพร้อมบริวารเกี่ยวข้องและให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า การรังวัดสอบเขตและการออกโฉนดที่ดินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แย่งการครอบครองตั้งแต่ก่อนยื่นคำขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ให้การทำนองเดียวกันว่า การออกโฉนดที่ดิน เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๗ และที่ ๘ ให้การว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ ๗ แล้ว และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๓/๒๕๕๖
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๔ บริษัทรุ่งเรืองไพโรจน์ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง นายวีรชัย สุวรรณธาราเรือง ที่ ๑ นายวินิจ ศรีสงวนวิลาศ ที่ ๒ นายเทิดศักดิ์ บุรีรักษ์ ที่ ๓ นายวัชรวิชญ์ สิทธิเกรียงไกร ที่ ๔ นายพีรพัฒน์ ฉันทธนากร ที่ ๕ นางลัดดา ฉันทธนากร ที่ ๖ กรมที่ดิน ที่ ๗ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๘ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๗๙/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๓๗๔๑ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน โดยซื้อที่ดินมาจากนายเพ็ง สุขผล ในปี ๒๕๓๓ และครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ จำนวน ๗ แปลง รวมเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน ๒๐ ตารางวา ต่อมาในปี ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำขอรังวัดรวมโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลง เข้าไว้ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ ๖๙๗๗ แต่ในการรังวัดดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริต โดยจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นช่างรังวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสน ละเลยต่อหน้าที่ไม่มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ทราบถึงการรังวัด ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำชี้ให้จำเลยที่ ๓ รังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง เมื่อจำเลยที่ ๓ ขึ้นรูปแผนที่และคำนวณเนื้อที่ที่ดินจึงได้เนื้อที่รวม ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๕๔ ตารางวา เพิ่มขึ้นจากเดิม ๔ ไร่ ๖ ตารางวา (ที่ถูก ๔ ไร่ ๑ งาน ๓๔ ตารางวา) ต่อมา จำเลยที่ ๓ ได้รายงานการรังวัดโดยทุจริตเสนอตามลำดับบังคับบัญชา จนกระทั่งในปี ๒๕๔๖ มีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ แทนฉบับเดิม ตามผลการรังวัดและมีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ยื่นคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น ๔ แปลง คือโฉนดเลขที่ ๖๙๗๖ เลขที่ ๖๙๗๗ เลขที่ ๖๙๗๔ และเลขที่ ๖๙๗๕ แล้วจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๙๗๖ เลขที่ ๖๙๗๔ และเลขที่ ๖๙๗๕ ให้กับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ตามลำดับ ในปี ๒๕๕๓ โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินจึงทราบถึงการกระทำดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ ๓ เป็นการละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ ๗ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ และโฉนดที่ดินที่ได้จากการแบ่งแยกดังกล่าว รวมทั้งรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๗ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๖ เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ พร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า การรังวัดสอบเขตและออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แย่งการครอบครองตั้งแต่ก่อนยื่นคำขอรังวัดรวมโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ แต่โจทก์ไม่ฟ้องเอาคืนภายใน ๑ ปี คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ให้การทำนองเดียวกันว่า การออกโฉนดที่ดินแปลงที่ซื้อจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและได้เสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ที่ดินตามโฉนดไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ที่ ๗ และที่ ๘ ให้การว่า ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ไม่ถูกต้องและเป็นจริง จำเลยที่ ๓ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ ๗ แล้ว ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินจริงและเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ที่ ๗ และที่ ๘ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการรังวัด การออกโฉนดที่ดินและการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาท อันเป็นเอกสารของทางราชการ ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งเป็นการฟ้องการกระทำของจำเลยที่ ๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ทำการรังวัดที่ดินพิพาทโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเนื่องจากรังวัดโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ไประวังและชี้แนวเขต จึงเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อโต้เถียงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๖ เป็นที่ยุติว่าอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ที่ ๗ และที่ ๘ เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะฟ้องให้เอกชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานทางปกครองร่วมรับผิดต่อโจทก์ การพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องพิจารณาประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหมดตามลำดับ เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยังโต้แย้งอยู่ว่ามีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์เนื่องจากแย่งการครอบครองที่พิพาทมาก่อนที่จะมีการนำชี้รังวัดขอรวมโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ ดังนั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนที่จะมีการรังวัดขอรวมโฉนดตามที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กล่าวอ้างหรือไม่แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ จะต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งมูลคดีเกี่ยวกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ที่ ๗ และที่ ๘ ก็เป็นมูลคดีเดียวกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๖ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๓ ไม่แจ้งให้โจทก์ซึ่งครอบครองที่ดินที่มีอาณาเขตติดต่อกันกับที่ดินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทราบ เพื่อให้มาระวังและชี้แนวเขตที่ดิน รวมทั้งได้ทำการรังวัดตามการนำชี้ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รวมเอาที่ดินของโจทก์ จึงเป็นกรณีฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และการออกโฉนดเลขที่ ๖๙๗๗ ตามผลการรังวัดดังกล่าว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งหกฉบับดังกล่าวและคำขออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินพิพาท จึงเป็นคำขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง และเป็นการฟ้องคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๗ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๗ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐร่วมกับเอกชนให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสน อันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๗ เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ถูกแย่งการครอบครอง แต่มิได้ฟ้องคดีภายในอายุความ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ และที่จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ให้การว่า เป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ข้อเท็จจริงปรากฏโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ ๓ ได้รังวัดเอาที่ดิน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์รวมเข้าไว้ในโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ ฉบับใหม่ โดยมีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสน ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวหลายรายการ การอ้างอิงสิทธิในที่ดินพิพาทโดยการแย่งสิทธิการครอบครองของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้เห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท ดังนั้น ศาลจะต้องตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณาว่าในขณะที่จำเลยที่ ๓ รังวัดสอบเขตรวมโฉนดที่ดินพิพาททั้ง ๗ แปลง เข้าไว้ด้วยกันเป็นการรังวัดเกินคำขอหรือไม่ หรือเป็นการรังวัดเอาที่ดินนอกโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงดังกล่าวมารวมไว้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจะพิจารณาว่าการแย่งสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีผลสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขทะเบียนที่ดินดังกล่าวอย่างไรหรือไม่เพียงใด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบในการพิจารณา มิได้เป็นประเด็นพิพาทในคดีนี้แต่อย่างใด แม้หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินแปลง น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๗๔๑ ถูกแย่งการครอบครองและตกเป็นสิทธิของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่หากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ในการรังวัดสอบเขตรวมโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด การรังวัดที่ดินดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการรังวัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย การรวมโฉนดและออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ ฉบับใหม่ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวภายหลังไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย และถึงแม้ว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทโดยการแย่งการครอบครองก็ไม่มีผลที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ในการรังวัดสอบเขตและการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดำเนินการโดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาเชียงแสน ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เป็นชอบด้วยกฎหมายได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓๗๔๑ เนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ได้รับความเสียหายกรณีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริตในการรังวัดรวมโฉนดที่ดิน ๗ แปลง ตามคำขอของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทับที่ดินของโจทก์ทั้งหมด โดยมีการออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ แทนฉบับเดิมซึ่งมีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น ๔ แปลง แล้วจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วน ให้กับจำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๗ และที่ ๘ เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ และโฉนดที่ดินที่ได้จากการแบ่งแยกดังกล่าว รวมทั้งรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ และที่ ๗ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ให้มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๖ พร้อมบริวารเกี่ยวข้องและให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การทำนองเดียวกันว่า การรังวัดสอบเขตและการออกโฉนดที่ดินเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แย่งการครอบครองตั้งแต่ก่อนยื่นคำขอรังวัดรวมโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๙๗๗ จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๖ ให้การทำนองเดียวกันว่า การออกโฉนดที่ดินแปลงที่ซื้อจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต ทั้งได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ที่ดินตามโฉนดไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๗ และที่ ๘ ให้การว่า ข้อกล่าวอ้างของโจทก์ไม่ถูกต้องและเป็นจริง จำเลยที่ ๓ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ ๗ แล้ว และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทั้งแปดยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทรุ่งเรืองไพโรจน์ จำกัด โจทก์ นายวีรชัย สุวรรณธาราเรือง ที่ ๑ นายวินิจ ศรีสงวนวิลาศ ที่ ๒ นายเทิดศักดิ์ บุรีรักษ์ ที่ ๓ นายวัชรวิชญ์ สิทธิเกรียงไกร ที่ ๔ นายพีรพัฒน์ ฉันทธนากร ที่ ๕ นางลัดดา ฉันทธนากร ที่ ๖ กรมที่ดิน ที่ ๗ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๘ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ