แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 13 เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 อันมีผลให้สัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลงและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุ การที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 13 ในวันที่ครบกำหนดเกษียณอายุ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยตกลงจ้างโจทก์ที่ 13 ทำงานต่อไปอีก 1 ปี หลังจากครบเกษียณอายุจึงเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่ มิใช่กรณีที่โจทก์ที่ 13 ทำงานกับจำเลยต่อเนื่องไม่ขาดตอนดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ภายหลังเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 13 โจทก์ที่ 13 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งยี่สิบห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบห้าเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบห้าโดยการเกษียณอายุ ซึ่งโจทก์ทั้งยี่สิบห้ามีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งยี่สิบห้าไม่ครบถ้วน โดยจำเลยจะต้องจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าตามที่ปรากฏในเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์ทั้งยี่สิบห้ามีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายขาดดังกล่าว หลังจากโจทก์ที่ 13 เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยแล้ว จำเลยได้ทำสัญญาจ้างแรงงานโจทก์ที่ 13 ใหม่ แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 13 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายแก่โจทก์ที่ 13 โดยโจทก์ที่ 13 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันเป็นเวลา 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 157,932 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 52,644 บาท ระหว่างโจทก์ที่ 14 ทำงานกับจำเลย จำเลยลดเงินประจำตำแหน่งโจทก์ที่ 14 ลงเดือนละ 1,200 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนธันวาคม 2548 รวมเป็นเงิน 28,800 บาท โดยโจทก์ที่ 14 ไม่ยินยอม โจทก์ที่ 14 มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งที่ถูกลดไปคืน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยส่วนที่ขาดแก่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าค่าชดเชยจำนวน 157,932 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 52,644 บาท แก่โจทก์ที่ 13 และเงินประจำตำแหน่งส่วนที่ถูกลดจำนวน 28,800 บาท แก่โจทก์ที่ 14 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทุกสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จและเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าครบถ้วนแล้ว เพราะตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย พ.ศ.2537 ให้ถือว่าเงินบำเหน็จเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชย และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย พ.ศ.2542 กำหนดว่า ลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายและจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนเกินที่มากกว่าค่าชดเชย หากค่าชดเชยมีจำนวนสูงกว่าเงินบำเหน็จ ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่หากค่าชดเชยมีจำนวนน้อยกว่าเงินบำเหน็จ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียงเท่ากับผลต่างระหว่างเงินบำเหน็จและค่าชดเชย ภายหลังโจทก์ที่ 13 เกษียณอายุจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ที่ 13 ใหม่ การที่โจทก์ที่ 13 ทำงานกับจำเลยต่อไปเพราะจำเลยและโจทก์ที่ 13 ตกลงขยายระยะเวลาเกษียณอายุของโจทก์ที่ 13 ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 13 ครบถ้วนแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 13 อีก จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินประจำตำแหน่งแก่โจทก์ที่ 14 เพราะเดิมโจทก์ที่ 14 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 2,000 บาท แต่โจทก์ที่ 14 มีผลการปฏิบัติงานไม่เหมาะสมจึงย้ายโจทก์ที่ 14 ไปทำงานในตำแหน่งพนักงานอาวุโสได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 800 บาท โดยโจทก์ที่ 14 ยินยอมและไม่คัดค้านการย้ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 จนถึงวันเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ เงินประจำตำแหน่งที่โจทก์ที่ 14 เรียกตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2547 ขาดอายุความเพราะเงินประจำตำแหน่งเป็นค่าจ้าง มีอายุความ 2 ปี แต่โจทก์ที่ 14 ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2549 คำฟ้องในส่วนดังกล่าวจึงขาดอายุความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน 735,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2548 แก่โจทก์ที่ 1, จำนวน 266,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2543 แก่โจทก์ที่ 2, จำนวน 414,810 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2547 แก่โจทก์ที่ 3, จำนวน 208,690 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2546 แก่โจทก์ที่ 4, จำนวน 188,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2544 แก่โจทก์ที่ 5, จำนวน 159,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 แก่โจทก์ที่ 6, จำนวน 290,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2545 แก่โจทก์ที่ 7, จำนวน 638,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2547 แก่โจทก์ที่ 8, จำนวน 214,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2547 แก่โจทก์ที่ 9, จำนวน 372,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2543 แก่โจทก์ที่ 10, จำนวน 1,142,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2545 แก่โจทก์ที่ 11, จำนวน 214,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2548 แก่โจทก์ที่ 12, จำนวน 118,449 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 มกราคม 2549 แก่โจทก์ที่ 13, จำนวน 482,560 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 แก่โจทก์ที่ 14, จำนวน 213,790 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2548 แก่โจทก์ที่ 15, จำนวน 233,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2547 แก่โจทก์ที่ 16, จำนวน 230,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2540 แก่โจทก์ที่ 17, จำนวน 204,270บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2546 แก่โจทก์ที่ 18, จำนวน 423,370 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2547 แก่โจทก์ที่ 19, จำนวน 276,890 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2548 แก่โจทก์ที่ 20, จำนวน 748,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2546 แก่โจทก์ที่ 21, จำนวน 228,210 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2548 แก่โจทก์ที่ 22, จำนวน 192,630 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2548 แก่โจทก์ที่ 23, จำนวน 256,180 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2544 แก่โจทก์ที่ 24, จำนวน 204,980 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2547 แก่โจทก์ที่ 25 กับให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย 157,932 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 13 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งยี่สิบห้า เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจชาวไทยและญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจผลิต จำหน่าย และส่งออกรถจักรยานยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ซูซูกิ” มีข้อกำหนดให้ลูกจ้างของจำเลยเกษียณอายุเมื่อมีอายุ 55 ปี ซึ่งโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12 และโจทก์ที่ 14 ถึงโจทก์ที่ 25 สิ้นสุดสัญญาจ้างกับจำเลยโดยการเกษียณอายุ โจทก์ที่ 13 ครบกำหนดเกษียณอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 แต่โจทก์ที่ 13 ได้ทำงานกับจำเลยต่อไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 มีการตกลงจ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างของจำเลยที่เกษียณอายุ จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่บัญญัติในเรื่องค่าชดเชยและเงินบำเหน็จที่จ่ายแก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุ 2 ฉบับ คือ ฉบับ พ.ศ.2537 และฉบับ พ.ศ.2542 ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่มีใบปะหลังที่แก้ไขข้อบังคับ พ.ศ.2542 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จและค่าชดเชยให้กับโจทก์ทั้งยี่สิบห้า จำเลยได้จ่ายบำเหน็จและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 25 โดยมีโจทก์บางคนได้ลงลายมือชื่อรับเงิน ซึ่งการลงลายมือชื่อนั้น ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ทั้งยี่สิบห้าไม่โต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จไม่ถูกต้อง ส่วนโจทก์ที่ 13 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 13 เมื่อเกษียณอายุและการให้โจทก์ที่ 13 จำเลยทำงานต่อไปถือว่าเป็นการทำสัญญาจ้างฉบับใหม่หลังจากสัญญาจ้างเดิมสิ้นสุด จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 13
ปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 13 เข้าทำงานตามสัญญาจ้างฉบับใหม่หรือไม่ อันจะทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยจ้างโจทก์ที่ 13 ทำงานต่อไปตามเงื่อนไขสัญญาจ้างฉบับเดิมต่อเนื่องไม่ขาดตอนและการจ่ายค่าชดเชยก่อนวันเลิกจ้างโจทก์ที่ 13 ในวันที่ 31ธันวาคม 2548 จำเลยสามารถทำได้เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามจ่ายค่าชดเชยล่วงหน้า เห็นว่า โจทก์ที่ 13 เกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในวันที่ 31 ธันวาคม 2547 อันมีผลให้สัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลงและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุ การที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 13 ในวันที่ครบกำหนดเกษียณอายุ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเดิมสิ้นสุดลง เมื่อจำเลยตกลงจ้างโจทก์ที่ 13 ทำงานต่อไปอีก 1 ปี หลังจากครบเกษียณอายุจึงเป็นการทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่ มิใช่กรณีที่โจทก์ที่ 13 ทำงานกับจำเลยต่อเนื่องไม่ขาดตอนดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใด ภายหลังเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 13 โจทก์ที่ 13 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน